A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 37 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • Thanks for finally talking about >%blog_title%
  • Thanks for finally talking about >%blog_title%
  • цена за уборку в доме после ремонта
  • workingholiday365.com
  • цены услуги уборки офисов
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 1 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 10:09 น.

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓


พุธะธาตุ ใช้ในความตรัสรู้

ฐานิยะ เถระอยู่คู่ศาสนา

พระราชสังวรญาณ ธ ทรงน้อมวันทา

ญาณหยั่งรู้ว่า สิ้นโลกมา ยังเหลือธรรม

 

ภิกษุทั้งหลาย !

จงดูกายอันเปื่อยเน่านี้เถิด

มันอากูล ไม่สะอาด มีสิ่งสกปรกไหลเข้าออกอยู่เสมอ

ถึงกระนั้นก็ตาม มันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนัก

ของผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้

ภิกษุทั้งหลาย !

ร่างกายนี้ไม่นานนักหรอก คงจะนอนทับถมแผ่นดิน

ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณครองแล้ว

ก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า

อันเขาทิ้งเลยแล้วโดยไม่ใยดี

 

 

พระวรธัมโมกถา

          ประทานเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน(สมเด็จพระญาณสังวร)สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

      วงการคณะสงฆ์ไทยย่อมรู้สึกจริงใจร่วมกัน ว่าได้พบความสูญเสียที่สำคัญ เมื่อท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ถึงแก่มรณภาพ

 

     ในระยะหลัง เมื่อธัมมะของท่านเจ้าคุณปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับในความรู้เห็นของชาวพุทธ โดยเฉพาะที่มีบุญมีวาสนาได้รู้จักท่านอย่างใกล้ชิด ได้รับเมตตาจากท่านโดยตรง ต่างก็ดูเหมือนจะพากันไม่สนใจในสมณศักดิ์ความเป็นเจ้าคุณของท่าน ท่านเป็น “หลวงพ่อพุธ” ในความรู้สึกที่เคารพศรัทธาสนิทสนมของญาติโยมจำนวนไม่น้อย แทบทุกหนทุกแห่งได้ยินคำ “หลวงพ่อพุธ” จนชินหูชินใจตามไปด้วย

 

     อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่สำคัญเกินกว่าที่ไม่ปรากฏความเสื่อมเสียของท่านในความเป็นพระเป็นสงฆ์ ในความรู้สึกร่วมกันของพุทธบริษัทจำนวนไม่น้อย ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญูาณ หรือ “หลวงพ่อพุธ” เป็นพระที่สะอาดด้วยศีล ด้วยพระธรรม ด้วยพระวินัย ที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางไว้ให้เป็นคุณสมบัติของพระ และพระในพระหฤทัยของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระศาสนาของพระพุทธองค์ก็คือ พระที่สมบูรณ์จริงด้วยคุณสมบัติที่ทรงวางไว้ สะอาดด้วยศีลด้วยพระธรรม ด้วยพระวินัย มิใช่เพียงด้วยครองผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความสูงส่งบริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น

 

        ขอยืนยันว่า ไม่มีมงคลใดเสมอด้วยมงคลแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แห่งพระพุทธธรรม และแห่งพระอริยสาวกสงฆ์ มงคลสูงสุดเพียงนั้นกำลังเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับโลก ที่รวมบ้านเมืองไทยเรานี้ด้วย เพื่อให้สามารถขจัดปัดเป่าอัปมงคลให้บางเบาบรรเทาลง ความสุขสงบจะได้เกิดขึ้นแทนที่ความร้อนความแรงที่มากมีหนักหนาในปัจจุบัน

 

         “หลวงพ่อพุธ” ท่านเป็นหนึ่งในผู้มีคุณต่อบ้านเมืองของเรา เพราะท่านเป็นพระที่เป็นมงคล เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่ช่วยมิให้อัปมงคลเพิ่มขึ้น ท่านย่อมได้เสวยผลแห่งความเป็นพระมีมงคลในคติภพวิสัยของท่านแน่นอนแล้ว ขอให้ผู้ได้พบ ได้รู้จักท่าน ได้นำความมีมงคลของท่านไปศึกษาปฏิบัติ เพื่อพาตนให้พ้นอัปมงคลเถิด “ชีวิตนี้น้อยนัก” จักได้มีชีวิตหน้าที่ยาวนานอย่างมีมงคลต่อไป.

 

คำนำ

          ฐานิยตฺเถรวตฺถุ (ฐา-นิ-ยัต-เถ-ระ-วัต-ถุ) ชื่อของหนังสือเล่มนี้แปลว่า “เรื่องของพระเถระชื่อว่า “ฐานิยะ” หรือภาษาพูดที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “เรื่องของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย”

 

         ศัพท์ว่า ฐานิยะ หรือ ฐานิโย นี้ เป็นชี่อฉายาภาษามคธ ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้ตั้งแต่วันที่ท่านอุปสมบท แปลความหมายว่า ผู้ตั้งมั่น (ในธรรม)

 

         เนื้อความในพระไตรปิฎกหรือประวัติเหล่าพระสาวกในพระธรรมบท ชื่อเรื่องประวัติของพระสาวกรูปนั้น ๆ ท่านมักจะตั้งชื่อลงท้ายด้วยคำว่า เถรวตฺถุ แบบเดียวกัน เช่น ถ้าเป็นเรื่องพระอานนท์เถระ ก็จะชื่อเรื่องว่า “อานนฺทตฺเถรวตฺถุ” และเรื่องของพระสาวกรูปอื่นๆ ก็มีนัยเดียวกันนี้

 

          ฉะนั้น ชื่อเรื่องว่า “ฐานิยตฺเถรวตฺถุ” นี้ จึงมีที่มาด้วยการอาศัยเรื่องของพระสาวกในครั้งพุทธกาลเป็นแบบอย่าง อันเป็นเหมือนคัมภีร์ชีวิตให้ชาวพุทธได้ศึกษาสืบไป ซึ่งจะเป็นเครื่องเทียบเคียงได้ว่า หลักธรรมหลักปฏิบัติไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน พระธรรมยังคงเส้นคงวาหนาแน่นอยู่สม่ำเสมอ ทั้งในอดีตกาลและปัจจุบัน ธรรมคงทรงธรรมไม่จำกัดกาล ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรมอยู่ ธรรมนั้นย่อมอำนวยผลอันพึงใจให้เสมอ ตามกำลังความสามารถแห่งตน ที่บากบั่นมุ่งมั่น เท่าเทียมกัน ทั้งในสมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และในสมัยปัจจุบันนี้ ที่พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้ว

 

          พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) เป็นพระสาวกอีกรูปหนึ่งซึ่งดำรงชีวิตแบบพระผู้ประเสริฐ เป็นผู้มีปฏิปทาคือทางก้าวเดินในทางธรรมอันแกล้วกล้า มีศรัทธาไม่หวั่นไหวตั้งแต่วันอุปสมบท จนในที่สุดก็ได้บรรลุถึงเป้าหมายแห่งชีวิตของนักบวช คืออุดมธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันยอดเยี่ยม ตามความสามารถและบุญญาบารมี เป็นประดุจน้ำที่เต็มแก้ว จะเทใส่เข้าไปเท่าใดก็ตาม มีแต่จะล้นเอ่อออกมาเท่านั้น ส่วนที่ล้นเอ่อไหลอาบออกมานอกแก้วนั้น ก็นำออกไปเพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ตามส่วนแห่งเมตตาที่เต็มเปี่ยม ดังเทศนาธรรมตอนหนึ่งของท่านว่า...

 

          “ถ้าจะพูดไปแล้ว เวลานี้เราก็เหมือนเป็นแชมป์โลก ต่อยกับกิเลสมาทุกชั้นทุกตอน ล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ชนะบ้างตามส่วนแห่งความเพียรภาวนาและบุญญาธิการ ถ้าเป็นนักมวยก็เรียกได้ว่า แชมป์โลก ทีนี้เมื่อเป็นแชมป์ คนก็รู้จัก อามิสบูชาก็มาก ปฏิบัติบูชาก็มี เมื่อมากและมีแล้ว ก็นำออกสงเคราะห์คนยากจนเข็ญใจ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นด้วยเหตุผลด้วยเมตตาอันเกิดจากใจบริสุทธิ์จริง ๆ”

 

          ฐานิยตฺเถรวตฺถุ นี้ จึงเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ที่กำลังจะมอดไหม้ ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต แต่ในทางตรงข้ามกลับแสดงความจีรังยั่งยืนของธรรม เพราะอาศัยชีวิตเป็นบันไดให้ก้าวถึง โดยอาศัยธรรมและวิบากที่ดีนำทางเข้าสู่เส้นชัย เป็นคติเตือนใจทั้งในขณะมีชีวิตอยู่และปล่อยวาง แต่โดยที่สุดแล้วก็มีความดีปรากฏเด่นให้ชาวโลกได้ดูชมทั้งธรรมและจริยา

 

          หนังสือเล่มนี้สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือแห่งศิษย์ทุก ๆ ท่าน กรรมอันใดที่ล่วงเกิน เหล่าศิษย์ขอน้อมกราบด้วยเศียรเกล้า ขอหลวงพ่อได้โปรดงดซึ่งโทษที่ล่วงเกินนั้น เพี่อการสำรวมระวังและตั้งสติให้ดีในกาลต่อไป

ศิษยานุศิษย์

๒๘ เมษายน ๒๕๔๓

 

ชาติภูมิ


          พระราชสังวรญาณหรือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย มีชาติกำเนิดในสกุล “อินหา” เกิดเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตรงกับวันพุธ เดือน ๓ ปีระกา เวลา ๐๕.๑๐ น. ที่บ้านหนองโดน ตำบลหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

 

          บิดาชี่อพร มารดาชื่อสอน อินหา ท่านเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพกสิกรรม

 


บรรพชา

          บรรพชา ณ วัดอินทสุวรรณ บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๑๕ ปี โดยมีท่านพระครูวิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดินฝ่ายมหานิกาย เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูโพธิภูมิไพโรจน์ (หมุน โพธิญาโณ) เป็นอาจารย์สอนในขณะเป็นสามเณร ท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ ณ วัดแห่งนี้

 

          การบรรพชาครั้งที่ ๒ เป็นสามเณรธรรมยุตเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดบูรพาราม โดยมีพระศาสนดิลก แห่ง วัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลและพระอาจารย์พร สุมโน เป็นอาจารย์สอนภาวนาและข้อวัตรปฏิบัติในขณะนั้น

 

          พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบนักธรรมชั้นโทได้ที่สำนักเรียนวัดสุปัฏวนาราม

          พ.ศ. ๒๔๘๓ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่สำนักเรียนวัดสุปัฏวนาราม

       พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านเดินทางเข้ามาเรียนหนังสือบาลีต่อที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ สามารถสอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ในขณะเป็นสามเณร

 

 

อุปสมบท


          อุปสมบท ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูปทุมธรรมธาดา ภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดบัวเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายามคธว่า “ฐานิโย” ซึ่งแปลความหมายว่า ผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม

 


จำพรรษา

          พรรษาที่ ๑ - ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๖) จำพรรษา ที่ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

 

          พรรษาที่ ๓ - ๗ (พ.ศ. ๒๔๘๗ -๒๔๘๙) จำพรรษา ที่ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

 

          พรรษาที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๐) จำพรรษา ที่วัดเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

 

          พรรษาที่ ๗ - ๑๒ (พ.ศ. ๒๗๙๐ - ๒๔๙๖) จำพรรษา ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (๒๔๙๑ สอบเปรียญธรรม ๔ ประโยคได้)

 

          พรรษาที่ ๑๓ - ๒๖ (พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๕๑๐) จำพรรษา ที่วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (เป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบและเป็นพระครูพุทธิสารสุนทร)

 

          พรรษาที่ ๒๗ - ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๑ -๒๕๑๒) จำพรรษา ที่วัดหลวงสุมังคลาราม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ (เป็นพระราชาคณะที่พระชินวงศาจารย์)

 

          พรรษาที่ ๒๙ - ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๒๗) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา (เป็นพระราชาคณะที่พระภาวนาพิศาลเถร)

 

          พรรษาที่ ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๒๘) จำพรรษา ที่สุญญาคาร (เรือนว่าง) อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

 

          พรรษาที่ ๔๕ - ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

          พรรษาที่ ๔๗ - ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒) จำพรรษา ที่วัดวะภูแก้ว บ้านวะภูแก้ว ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

 

          พรรษาที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) จำพรรษา ที่วัดป่าชินรังสี ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

          พรรษาที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๘๓๔ ) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

          พรรษาที่ ๕๑ - ๕๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕ -๒๕๓๘) จำพรรษา ที่วัดป่าชินรังสี ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา (เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวรญาณ)

 

          พรรษาที่ ๕๕ - ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๑) จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา


ประวัติและปฏิปทามีคนมาขอร้องให้เล่าและให้เขียนพิมพ์เป็นเล่มมากต่อมาก

แต่หลวงพ่อไม่ยอมทำ คิดว่าเอาไว้ให้ลูกศิษย์เขาทำ

ในเมื่อมีคนต้องการอยากจะรู้ เผื่อจะเป็นคติเครื่องเตือนใจและจะเป็นประโยชน์

หลวงพ่อก็จะเล่าให้ฟัง...

 


หลวงพ่อเล่าประวัติว่า

“เมื่อมีคนมาถามถึงสกุลรุนชาติ หลวงพ่อจะบอกเสมอว่า

หลวงพ่อเป็นเด็กขอทาน กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ

อาจเคยทำกรรมพรากชีวิตสัตว์ไว้ จึงต้องเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก”

ถิ่นฐานบ้านเดิม

 เกิดในดงโจร

          สมัยก่อนนี่เกิดอยู่ในดงโจร พี่น้องทางฝ่ายแม่นี่เป็นโจรชั้นไอ้เสือทั้งนั้น ถ้าหลวงพ่อไม่มาบวชนี่ สงสัยไม่ตายโหงก็ติดตะรางหัวโต

 

          บ้านปู่บ้านย่าเป็นคนอุบลฯ อยู่บ้านไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ เพราะภัยธรรมชาติเกิดความแห้งแล้ง จึงได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ทางอำเภอสว่างแดนดิน สกลนคร

 

          บ้านตาบ้านยายอยู่บ้านหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี พ่อไปค้ากำปั้น (หมายถึงไปขายแรงงาน) ไปได้แม่อยู่นั่น พ่อของหลวงพ่อนี่เป็นคนหมั่นคนขยัน ไปเป็นลูกจ้างเขา ตำข้าว ตักน้ำ ทำให้ครอบครัวเขา จนเขารัก เขาเลยยกลูกสาวให้

 

ย้ายจากหนองโดนมาอยู่แก่งคอย

 พ่อไปเป็นลูกจ้างที่บ้านของตา

          สมัยนั้น ตาเป็นเจ้าของนาใหญ่ อยู่แถวทุ่ง แล้วทีนี้พ่อก็ไปเป็นลูกจ้างในบ้านนั้น บังเอิญหมู่เพื่อนไปกันเยอะแยะแต่เขารับเอาพ่อไว้คนเดียว ตอนนั้นพ่ออายุ ๑๙ ปี พ่อเป็นคนหมั่นขยัน ตักน้ำ ตำข้าวทำครัว แกทำคล่อง พ่อตาก็เลยชอบใจถึงกับยกลูกสาวให้ “มึงไม่ต้องพูดอะไร ข้าจะเอาเป็นลูกเขย” พ่อตาพูดขึ้น เสร็จแล้วก็ยกลูกสาวให้ อยู่มาภายหลังนี้ แม่ก็คลอดหลวงพ่อออกมา พอคลอดเท่านั้นแหละ ก็เริ่มเสียสติ ขนาดเป็นบ้า รักษากันอยู่ ๒ - ๓ ปี ไม่มีท่าทีว่าจะหาย พ่อตาก็เลยบอกพ่อของหลวงพ่อว่า “เจ้ายังหนุ่ม เจ้าไปซะ ไปหาเอาเมียใหม่ที่ไหนก็ได้ ลูกสาวพ่อ พ่อจะเลี้ยงเอง”  ในที่สุดโยมพ่อก็จากไป

 

          ทีนี้พอพ่อไป ก็ไปรับจ้างเกี่ยวข้าวอยู่แถวนั้น ปู่ย่าก็รับจ้างปลูกข้าวแถวนั้น พอสักพักหนึ่งก็คิดถึงลูก ก็เลยกลับไปหาอีก ไปบอกพ่อตาว่าไปไม่ได้หรอกคิดถึงลูก คิดถึงเมีย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะทิ้งกันได้ยังไงมันดูไม่งาม ดูไม่ดีเลย โดยเฉพาะทิ้งลูกไป มันก็ดูไม่งาม พ่อตาก็บอกว่า ถ้าไม่ไป ก็ไปหาทำไร่ ทำนา ทีนี้พ่อก็ไปทำไร่ พ่อตา แม่ยายก็คอยส่งเสบียงให้ ก็ไปนอนอยู่ในป่าถางไร่ยังไม่เสร็จ ก็บอกพ่อตาว่าขอเอาลูกไปถางไร่ด้วย ทีนี้แทนที่จะกลับไปถึงไร่ถางหญ้าต่อ ก็เตลิดพาลูกน้อยหนีมาหาญาติที่อำเภอแก่งคอย

  


 หวุดหวิดถูกเอาไปขายแลกเหล้า

          พอดีน้องสาวย่ามาอยู่ที่แก่งคอย แล้วโยมพ่อก็มาอยู่ด้วยมาเกิดเป็นไข้มาลาเรีย ไข้มาลาเรียในสมัยนั้นก็มีแต่ตายอย่างเดียวเท่านั้น ทีนี้น้องเขยย่าเป็นคนเล่นการพนันติดการพนัน กินเหล้า ขี้เมาหยำเปแล้วก็ชอบเอะอะโวยวายทำลายสิ่งของ เข้ามาบ้านก็มาทุบตีย่า

 

          จำได้อยู่มาภายหลัง แกก็เอาหลวงพ่อมาขายให้คนจีนแล้วจะเอาเงินไปกินเหล้า พอดีปู่คุณก็เดินทางจากสกลฯ มารับที่แก่งคอย เราเป็นเด็กก็จำได้แต่ว่าย่าช่อมาเรียก เรียกให้ไปหาปู่คูณ ช่วงนั้นอายุได้ ๔ ขวบเศษจำอะไรไม่ได้มากนัก

 

จากสระบุรีสู่สกลนคร

 เกิดมาได้ ๔ ขวบก็มีอันต้องพลัดพรากจากพ่อแม่

          วาสนาของคนเรามันอาศัยบุญกรรมเป็นเครื่องตกแต่ง บุญหมายถึงกรรมดีลิขิต บาปหมายถึงกรรมชั่วลิขิต ชีวิตจึงมีทางเดินของชีวิตโดยอาศัยดีชั่วแสดงเหตุผลให้ก้าวเดิน เราเกิดมาเหมือนชีวิตมันไม่สมบูรณ์แต่มันก็สมบูรณ์ตามบุญกรรมที่ตกแต่งมาด้วยความเป็นธรรม กรรมจึงไม่เอนเอียงตามใครต้องการแต่จะดำเนินตามกรรมดีกรรมชั่วที่เรากระทำเท่านั้น

 

          เราเป็นเด็กพอเกิดมาได้ ๔ ขวบเศษ ก็มีอันต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ แต่ตอนนั้นมันไม่รู้เรื่องอะไร ผู้เฒ่าเล่าให้เราฟังว่า

 

          “โยมแม่คลอดออกมาเสียสติ ส่วนโยมพ่อเป็นไข้มาลาเรียตายตอนพาเราหนีมาแก่งคอย ตอนอายุ ๔ ขวบ ญาติ ๆ ทางบ้านโคกพุทราเห็นว่า ไอ้พรมันก็ตายแล้ว แม่มันก็เสียสติ เห็นแล้วน่าสงสาร กลัวทางสระบุรีเขาเลี้ยงไม่ดี ก็เลยออกอุบายพาขโมยหนีมาสกลนคร เดินทางจากแก่งคอย สระบุรีมาสกลนครใช้เวลาเดือนครึ่ง เดินทางมาด้วยเท้า ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น นอนตามเถียงนา นอนตามร่มไม้ชายป่า เสบียงอาหารหาบข้าวสาร หาบบั้งปลาร้า ข้าวหมดก็ขอเขากินตามทาง ถ้าผ่านหมู่บ้านก็นอนตามวัด ขอข้าวพระกิน ใช้เปลือกหอยจิ๊บจี้ทำช้อน ใช้กะลามะพร้าวทำเป็นถ้วยชาม ในระหว่างทางนั้นพ่อปู่สุวรรณอุ้มบ้าง ปู่สงฆ์อุ้มบ้าง ปู่คูณอุ้มบ้าง ปล่อยให้วิ่งเล่นบ้าง มีของกินอะไรตามป่าตามเขาก็เอาล่อบ้าง ตามข้างทางมีผลตูมกา (มะตูมชนิดหนึ่ง) พวกผู้เฒ่าก็เอามาให้เล่น พอเอามาให้เล่นเราก็ชอบใจใหญ่ เมื่อเราพอใจ เขาก็แกล้งโยนไปข้างหน้า กลิ้งไปข้างหน้า ให้เราวิ่งตามผลตูมกานั้น เมื่อเราวิ่งเก็บได้เขาก็โยนไปอีกอยู่อย่างนั้นจนกว่าเราจะเหนื่อยหมดแรงแล้วก็นอนหลับไปเอง”

          การเดินผ่านป่าผ่านเข้าอันน่าสะพรึงกลัว รอนแรมนานวันนานคืนเหนื่อยล้าสำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจสำหรับเด็กน้อยที่ไม่รู้เรื่องราวของชีวิต คำโกหกของผู้ใหญ่เป็นสิ่งไร้สาระสำหรับคนโต ๆ แต่เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเด็กที่ไม่รู้เรื่องโลก วันหนึ่ง ๆ เวลาเราร้องไห้ เมื่อเวลาเราไม่หยุด คำขู่ง่าย ๆ ที่เป็นไม้ตายที่ใช้ไม่รู้จบสิ้นคือ

 

          “ระวังนะอย่าร้อง เดี๋ยวเสือจะมาคาบคอ”

          “หลับเถิดนะหลานน้อย ถ้าไม่หลับผีจะมาเอาไปกิน”

          หรืออีกอย่างหนึ่ง

          “อย่าร้องไห้เสียงดังประเดี๋ยวผีป่ามันจะได้ยิน”

          คำขู่แค่นี้ทำให้น้ำตาเราไหล แต่ปากและใจก็ไม่กล้าร้องไห้ จนกระทั่งถึงบ้านโคกพุทรา

 

 

เมื่อมาอยู่กับอาที่บ้านโคกพุทรา

 พี่น้องกำพร้าทั้ง ๓ คนอยู่ด้วยกัน

          พอมาอยู่กับปู่ย่าที่บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร มาตอนหลังปู่ก็ตาย แล้วก็อาผู้หญิงน้องพ่อก็ตาย สามีอาเลยหนีไป ทิ้งลูกไว้ ๓ คน คนหนึ่งนี้ตาย เลี้ยงไม่โต เลยเหลือ ๒ คน ที่บ้านนั้นก็เลยเหลือแต่ย่ากับอาผู้ชายคนสุดท้าย เราก็มาอาศัยอยู่กับเขา เลยเป็นพี่น้องกำพร้าทั้ง ๓ คนอยู่ด้วยกัน

 

          อยู่มาภายหลัง อาเคียบ เป็นชายหนุ่มยังไม่แก่ จึงคิดว่า ทำอย่างไรน้อ! แม่เราก็แก่แล้ว เลี้ยงหลานก็ไม่ไหว ก็เลยไปจีบผู้หญิงที่เป็นคนแก่กว่า พอเสร็จแล้วไปตกลงปลงใจกันอย่างง่าย ๆ ก็พามาอยู่บ้าน ทีนี้พี่ชายใหญ่ก็ต่อว่าน้องชายว่า ทำไมจึงเอาเมียแก่ แกอายุ ๑๙ เอาเมียอายุตั้ง ๓๐ ปี แกก็บอกว่าเอาสาว ๆ มา กลัวจะเลี้ยงหลานไม่ไหว เขามีอายุแล้ว เลี้ยงหลานคงเป็น ก็เลยอยู่กันมาจนกระทั่งโต แล้วเรียนหนังสือ จบแล้วก็ออกบวช

 

อานำมาเลี้ยง

 อาซึ่งเปรียบเสมือนทั้งพ่อทั้งอา

          จากนั้นอาผู้ชายนำมาเลี้ยงหลังจากย่าตาย ได้อยู่กับอาซึ่งเปรียบเสมือนทั้งพ่อทั้งอา ตอนนั้นช่วยอาทำนา การทำนาในสมัยนั้นก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนปัจจุบัน เพียงแต่หว่านเมล็ดข้าวลงในนา ขายข้าวได้แสนละ ๕๐ สตางค์ (๑ แสน = ๑๒๐ กก.) แทบจะยกมือไหว้คนมาซื้อ ต่อมาเขามาตั้งโรงเหล้าที่อุดรฯ พวกโรงเหล้าก็มาซื้อข้าว ทำนาทุกปี ๆ ข้าวที่อยู่ข้างล่างผุเป็นขอบ (คงขายไม่ทัน) ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๕ ราคาข้าวได้แสนละ ๒ บาท ขาย ๑๐ แสน (๑๐๐ หมื่น) ก็ได้ ๒๐ บาท ไปทำนา มีอา ๒ คน คืออาชายกับอาหญิง มีหลานกำพร้า ๓ คน (เด็กชายอ่อนสี เด็กชายพุธ เด็กหญิงบัวลี) ทำนาแต่ละปี ๆ ได้ข้าวท่วมหัวท่วมเกล้า ไม่ได้ขาย ขายข้าวแสนละ ๕๐ สตางค์ แสนหนึ่งมัน ๑๐ หมื่น หมื่นหนึ่ง ๑๒ กิโล รวมแล้ว ๑๒๐ กิโล เป็นหนึ่งแสน ขาย ๕๐ สตางค์ ทำนากันทุกปี ทำด้วยความขยันขันแข็ง หมู่บ้านร้อยหลังคาเรือน เก็บเงินมารวมกันทั้งหมู่บ้านแล้วได้ไม่ถึงพันบาท แต่เราอยู่ได้อย่างสบาย เพราะในน้ำมีปลาในนามีข้าว ขอให้มีน้ำ ปลาเต็มไปหมด เดี๋ยวนี้มีน้ำ หาปลาจะดีดน้ำก็ไม่มี ทำไมมันไม่มี ..ยาฆ่าแมลง ปลามันหนีหมด มันไม่มาไข่ให้เรา

 

          สาวเล็กสาวน้อยเข็นฝ้ายไม่เป็นเดี๋ยวนี้ ไปพาลูกพาหลานมันทำนะ ถ้าหลวงพ่อเป็นหนุ่มน้อย ให้ไปหาเอาเมียบ้านนอก จ้างก็ไม่เอามัน ทำไม.. มันเข็นฝ้ายไม่เป็น เพราะฉะนั้นพากันฟื้นฟู พี่น้องทั้งหลาย เราเข็นฝ้าย ปีหนึ่งเราทอหูก ๒๐-๓๐ เมตร มาตัดเสื้อตัดผ้าแจกกันใช้ ไม่ต้องจ่ายสตางค์ เงินมีเท่าไร มีอยู่เท่านั้น

ทำนาและทอฝ้าย

เสื้อผ้าเย็บเอง เย็บด้วยมือ นุ่งกางเกงขาก๊วย

          สมัยเด็กนอกจากทำนาแล้ว ก็ต้องซ้อมข้าวสารหาบไปขาย หาเงินเรียนหนังสือ ตอนเป็นนักเรียน ไม่เคยได้ใส่เสื้อผ้าที่เขาตัดขาย มีแต่เสื้อผ้าที่เย็บเอาเอง เย็บด้วยมือ นุ่งกางเกงขาก๊วย บางทีก็แปลงมาเป็นโสร่ง แบบโสร่งปาเต๊ะผู้หญิง เย็บเสื้อผ้าใส่เองตั้งแต่เด็ก บางครั้งอาก็ไปซื้อฝ้ายทั้งเม็ดมา ทำคันดีดให้หลานดีด เขาเรียกล่อฝ้าย แล้วไปว่าจ้างชาวบ้านช่วยปั่นให้ นำมาต้มชุบแป้งแล้วจ้างชาวบ้านทอ บางทีทอเอง แล้วก็เอามาตัดเย็บเสื้อผ้าใส่ อยู่บ้านไม่ค่อยใส่กางเกง ชอบนุ่งโสร่ง ทำงานช่วยตัวเองมาตั้งแต่ ๗-๘ ขวบจนถึง ๑๔ ขวบ เรียนจบ ป.๖ ครูชวนไปสอนหนังสืออยู่โรงเรียนก็ไม่เอา เริ่มรู้สึกสำนึกตัวตั้งแต่รู้เดียงสาว่า ชีวิตมันทุกข์ทรมาน มันเคียดแค้นความจน ความไร้พ่อแม่ จึงตั้งปณิธานว่า “ขึ้นชื่อว่าทายาททุกข์ จะไม่ให้มี”  ชีวิตของหลวงพ่อว่าไปแล้วมันน่าสงสาร ถ้าลูกหลานมีมานะที่จะสร้างตัวเองเหมือนหลวงพ่อ มันต้องเอาตัวรอดได้ทุกราย

 

วิถีชีวิตสมัยปู่ย่าตายาย

ทำนาทำสวน เลี้ยงสัตว์ เข็นฝ้าย เลี้ยงไหมทอหูก


          อาชีพซึ่งเคยทำมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเช่น เกษตรกรรมประจำครอบครัว อุตสาหกรรมประจำครอบครัว

 

          เกษตรกรรมประจำครอบครัว ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย

 

          อุตสาหกรรมประจำครอบครัว ชาวชนบทเข็นฝ้าย เลี้ยงไหม ทอหูก อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือชีวิตของพวกเรามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แต่มาสมัยปัจจุบันนี้ ชาวชนบทพากันทอดทิ้งสิ่งที่เราเคยพึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่เก่าก่อน โดยไปยึดเอาหลักและวัฒนธรรมของชาวต่างประเทศ ไปดำเนินตามแบบชาวต่างประเทศ พากันทิ้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประจำครอบครัว

          เกษตรกรรมประจำครอบครัว เรามีข้าว ในสวนเราก็มีผักที่เราปลูกเอาไว้ มองลงไปใต้ถุนก็มีเล้าเป็ด เล้าไก่ มีเล้าหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ทำไร่ทำนากัน ถึงแม้ว่าทรัพย์สินเงินทองไม่มี แต่เราก็อยู่กันได้ เพราะว่าเรามองไปข้างบ้านก็เห็นยุ้งข้าว มองลงไปใต้ถุนบ้านก็เห็นเล้าเป็ด เล้าไก่ มองเข้าไปในสวนก็มีผักมีหญ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้

 

          อุตสาหกรรมประจำครอบครัว การเข็นฝ้าย เลี้ยงไหม ทอหูก เราใช้เป็นอาชีพที่ช่วยชีวิตของเรามาตั้งแต่ปู่ย่าตายายของเราแล้ว แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ชาวชนบทพากันทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้ว ไร่นาก็กลายเป็นรถยนต์ ไปเป็นรถมอเตอร์ไซค์กันหมด แล้วมิหนำซ้ำยังไปหวังพึ่งโชคลาภ ลอตเตอรี่ หวยเบอร์หรือการพนันต่าง ๆ มันก็ยิ่งพากันยากจนลงไปใหญ่

 

 

ย้อนอดีตแก้ไขปัจจุบัน

 อดทนจริงใจ รื้อฟื้นอาชีพเดิมของตนเองขึ้นมา

          ที่เราจะแก้ปัญหา (เศรษฐกิจยุค IMF) คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป แต่ประชาชนพลเมืองทั่วไปก็ให้พากัน อดทน จริงใจ รื้อฟื้นอาชีพเดิมของตนเองขึ้นมา ทำเหมือนอย่างเก่าแก่โบราณ สมัยปู่ย่าตายายของเรา ยึดเป็นอาชีพหลักเลี้ยงลูกหลานมา เข้าใจว่าบ้านเมืองของเราจะอยู่รอดได้

 

          สงครามโลกครั้งที่สองก็รู้สึกว่าค่อนข้างจะลำบากมาก แต่ก็ไม่เหมือนอย่างในสมัยปัจจุบันนี้ สมัยนั้นประชาชนพลเมืองยังมีความคิดที่จะช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากลำบากด้วยการประกอบเกษตรกรรมประจำครอบครัว อุตสาหกรรมประจำครอบครัว แต่มาในสมัยปัจจุบันนี้ประชาชนทั้งหลายทอดทิ้งอาชีพเดิมของตนเอง แต่แห่กันไปทำงานตามโรงงานต่าง ๆ ในภาคกลาง พอไปทำงานได้เงินนิดหน่อยก็กลับมานอน เอาเงินซื้อข้าวสารกิน เงินหมดแล้วก็ไปทำงานต่ออีก ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ประชาชนพลเมืองของเราก็ยากที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวสร้างหลักฐานหรือออยู่ดีกินดีได้

 

          เกษตรกรรมประจำครอบครัว ทำนา ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ตามนโยบาย ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันนั้นคือเกษตรกรรมประจำครอบครัว อยากกินไข่ไม่ต้องซื้อ อยากกินไก่ไม่ต้องซื้อ จับไก่ในเล้าของเรามาแกงกิน อยากกินผัก ในสวนของเรามี ผลหมากรากไม้ของเราก็มี เราก็ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องไปโวยวายค่าครองชีพมันสูง อันนี้มันก็แก้ปัญหาไปได้ข้อหนึ่งแล้ว

 

          ทีนี้อุตสาหกรรมประจำครอบครัว ปั่นด้าย ทอหูก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เวลานี้เขาทิ้งกันหมด สมัยเก่าก่อนโบราณนี้ สมัยที่หลวงพ่อเป็นเด็ก หลวงพ่อหัดปั่นด้ายนะ ปั่นด้าย แกะขี้ไหม ทอหูก ช่วยย่า เราเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่ไม่มี ต้องอาศัยย่าแก่ ๆ ทอหูก ทำผ้านุ่งผ้าห่มให้ สงสารย่า เราก็หัดเข็นฝ้ายบ้าง หัดปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้าง หัดทอหูกบ้าง ช่วยตัวเองตลอดมา แล้วทีนี้เราทอหูกได้ยี่สิบสามสิบเมตร เอามาตัดเสื้อผ้าแจกกันใช้ ไม่ต้องไปหาเงินเที่ยวซื้อในตลาด มันพอแก้ปัญหาความยากจนไปได้พักหนึ่ง

 

          เวลานี้แม้แต่วัว ควาย ต่อไปนี้เราอาจจะได้เห็นแต่รูปมัน เดี๋ยวนี้ชาวไร่ชาวนาแถวบ้านหลวงพ่อ แถวสกลนครนี้ เขาขายเข้าโรงงานหมด ทีนี้มาภายหลังนี้นึกสงสารชาวบ้าน ก็พากันชักชวนญาติโยมทั้งหลาย บริจาคเงินทอง ไปซื้อโค ซื้อกระบือ ไปเที่ยวแจกตามบ้านนอก ปีนี้เราก็แจกไปได้พันกว่าตัว ปีกลายนี้ก็พันกว่าตัว

 

 คนไทยรู้จักใช้แต่สิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่

          ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ถอยหลังไปโน้น พื้นแผ่นดินภาคอีสานเป็นผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เข้าป่า มีผลไม้ มีเผือกมีมัน ลงทุ่ง มีกบมีเขียดมีปลา หลวงพ่อเป็นเด็กเลี้ยงควายเดินไปในโคกป่านี่ ใบไม้ ใบพลวง ใบตองมันหล่นลงมาทับ เหยียบไปไหน ได้ยินแต่เสียงมันระเบิดดังโป๊กป๊าก ๆ อะไร ไปเหยียบหัวกบมัน ท้องมันแตก เดี๋ยวนี้หลวงพ่อไปเยี่ยมบ้านแถวสกลนครตอนบ่าย ๆ ๓-๔ โมง ไปเอาผ้าอาบน้ำปูลงแล้วนอนอยู่ใต้ร่มไม้ เอารถไปจอด จอดทำไม คอยฟังว่ามันจะได้ยินเสียงกบเขียดร้องหรือเปล่า เงียบไม่ได้ยิน ขอให้แกร้องขึ้นมาเถอะ ร้องแอะขึ้นมาฉันจะตามหาจนพบ เวลานี้กบเขียดนี้ไม่มีดาษดื่น พอเดือนหกเดือนเจ็ด ฝนลงมานี่ อึ่งอ่างกบนี้มองดูเต็มไปหมด เวลานี้จะหาอึ่งอ่างจะมาร้องก็ยังไม่มี ใครอยากกินกบ เลี้ยงกิน อยากกินปลา เลี้ยงกิน ในสมัยยังไม่ถึงร้อยปีความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองมันเป็นไปถึงขนาดนี้ ทีนี้ชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนของเรานี่ เขาจะอยู่จะกินกันอย่างไร

 

          เพราะฉะนั้นพวกเราจะต้องสร้างสมรรถภาพของเราเองให้เข้มแข็ง ต่อไปนี้ ตีนถีบปากกัด หยุดนิ่งไม่ได้ ทุกคนจะต้องกระตือรือร้น รู้จักหน้าที่ของตนเอง ประชาชนพลเมืองของไทยเรานี้ยังมีแนวโน้มไปในทางที่รู้จักใช้แต่สิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่ เพราะฉะนั้นลูกหลานพยายามฝึกฝนความรู้สึกของตนเองนี้ให้มันรู้จักหน้าที่ให้มันมาก ๆ ขึ้น อย่าให้รู้จักแต่ว่าเวลามีความจำเป็นมา ก็เรียกร้อง พอมีรัฐบาล รัฐบาลใดไม่มีของไปแจก รัฐบาลนั้นไม่ดี รัฐบาลใด เวลาไม่มีน้ำ ไม่เอาน้ำไปแจก รัฐบาลนั้นไม่ดี หลวงพ่อไปแถวภาคกลางนี้ ภาคกลางเขายังดีหน่อยนะ บ้านเขากระต๊อบกระแตหลังคามุงจาก มีตุ่มน้ำวางรอบบ้าน ไปทางอีสานนี้บ้านหลังใหญ่หลังโตแต่มองหาตุ่มน้ำสำหรับเก็บน้ำฝนเอาไว้รับประทานหน้าแล้งไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเมื่อฝนไม่ตกไม่ลงนี่ เราจึงพากันอด พออดแล้วก็พากันร้อง ร้องรัฐบาลไล่ไป แต่เวลาสุขสบายไม่คำนึงถึงว่า รัฐบาลเขาจะมีความเดือดร้อนทุกข์ยากลำบากแค่ไหน เอ้า! เวลาทุกข์มาก็นึกถึงรัฐบาล ให้รัฐบาลหาน้ำไปแจกไปช่วย เพราะฉะนั้น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ พยายามช่วยตัวเอง คนที่จะช่วยตัวเองได้ต้องหมั่นขยัน คนหมั่นขยันก็ย่อมมีจิตใจกว้างขวาง ทำให้เกิดคุณธรรมคือความสามัคคี

 

ในความรู้สึก.....

 ไม่มีความรู้สึกว่ามีพี่มีน้องมีญาติ

          ในความรู้ลึกของหลวงพ่อ ไม่มีความรู้สึกว่าที่ไหนเป็นบ้าน ไม่มีความรู้ลึกว่ามีพีมีน้องมีญาติ แต่แสดงความรู้ลึกไปตามมารยาท ใครมาปวารณาว่าเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นลูกหลาน ก็แสดงไป เขาจะเลิกรักนับถือก็สบาย ๆ ใครมาบอกว่ารักก็รักเขา ถ้าเขาเลิกรัก เลิกนับถือก็ไม่มีความรู้สึกเสียใจสักนิด

 

          พ่อของหลวงพ่อชื่อ นายพร แม่ชื่อ นางสอน อินหา อายุ ๔ ขวบ เมื่อพ่อตาย ไปอยู่กับปู่กับย่าที่ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ตาชื่อวงศ์ ยายจำชื่อไม่ได้ ปู่ชื่อคูณ ย่าชื่อช่อ

 

          พ่อปู่เป็นคนต่อนกเขา เลี้ยงนกเขาเพิ่นขันเสียงน้อยๆ ชาวบ้านเขาให้ฉายาว่า “ตาคูณนกเขาน้อย” มีญาติคนหนึ่งติดกัญชา พี่เขยของแม่อานี้แหละ ติดกัญชา เขาก็เลยให้ฉายาว่า “สุดขี้ชา”

          ในวัยเด็กถึงแม้จะเป็นลูกกำพร้า แต่หลวงพ่อก็เป็นคนไม่ยอมคน ถ้าโดนรังแกก็สู้ลูกเดียว

 

          ในด้านจิตใจก็มีแต่สู้ลูกเดียวไม่มีถอย ขนาดหัวมันสูงกว่าเราคืบหนึ่งนี้ไม่ยอมถอย หมอหนึ่งตัวใหญ่เบ้อเริ่ม ตีกัน มันจับได้ มันเอากำปั้นใหญ่ใส่หน้าท้องนี้ เราก็จุก มันก็จุกเหมือนกัน

 

          พอถูกรังแก เราก็ตีมัน บางทีไล่ฟัดมันจนกระทั่งมันขึ้นไปถึงบ้าน พ่อแม่มันจะมาช่วยลูกมันตี เราก็กระโดดบ้านหนีซิ จะอยู่ทำไม สมัยนั้นความคิดมันยังอ่อนอยู่ ถ้าหากว่าความคิดมันโตเป็นผู้ใหญ่ล่ะ โอ๊ย! เผาบ้านเผาเมืองวอดวาย ร้ายนะ หลวงพ่อไม่ใช่คนใจดีนะ สมัยก่อน พอมันนึกขึ้นมาว่า “กูคนเดียวในโลกโว้ย” วิ่งเข้าใส่เลย

 

 

พระคุณพ่อแม่

 บิดามารดาเป็นพระอรหันต์ของลูก บิดามารดาเป็นเนื้อนาบุญของลูก

 

          ถึงหลวงพ่อจะเป็นเด็กกำพร้าแต่พระคุณของบิดามารดาผู้ให้เกิดก็ประมาณค่ามิได้ หลวงพ่อคิดว่า พระคุณของบิดามารดาและคุณของท่านผู้มีคุณทั้งหลายสำคัญที่สุด...

 

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ การอุปัฏฐากบิดามารดาเป็นมงคลอันสูงสุด เพราะบิดามารดาเป็นพระพรหมของลูก บิดามารดาเป็นพระอรหันต์ของลูก บิดามารดาเป็นเนื้อนาบุญของลูก เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเรานี้ควรจะได้รู้จักพระสององค์นี้ก่อน

          อย่างบางทีหลวงพ่อเคยเห็น คนบางคนกำลังจัดของจะไปจังหันพระ ตาแก่ยายแก่แกมองดูแล้ว

          “เออ! ของนี้น่าอร่อย แม่ขอกินหน่อยได้ไหม”

          “ไม่ได้ ไม่ได้ ฉันจะเอาไปวัด”

 

          บาป เพราะฉะนั้น ให้ถือคติเสียว่า เรามีมือสองข้าง วันหนึ่ง ๆ ก่อนที่จะยกขึ้นไหว้ใคร ต้องยกขึ้นไหว้พ่อแม่เราก่อน ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้อยู่ด้วยก็ตาม พอตื่นจากที่นอนมา พนมมือสองข้างขึ้น สาธุ... ข้าพเจ้าไหว้พ่อแม่ ทำทุก ๆ วันเป็นสิริมงคล ถ้าหากว่าท่านอยู่ต่อหน้าเรา ก่อนจะไปทำงานทำการก็ยกมือขึ้นไหว้ หรือกราบตักท่านก่อน เพราะว่าออกไปข้างนอก แม้เราจะต้องไปพบเพื่อนฝูง ผู้หลักผู้ใหญ่ เราจำเป็นต้องยกมือขึ้นไหว้ เพราะฉะนั้นในวันหนึ่ง ๆ เราต้องยกมือขึ้นไหว้พ่อแม่เราก่อน ถ้ามีของอุปโภคบริโภคต้องยกประเคนให้พ่อแม่เราก่อน ก่อนที่จะเอาไปให้คนอื่นหรือถวายพระก็ตาม ต้องมีส่วนแบ่งให้พ่อให้แม่

 

          เราไหว้พ่อไหว้แม่ไม่ได้ อย่าไปไหว้พระ ถ้าพ่อแม่ของเรายังไม่อิ่ม อย่าไปเที่ยวหาเลี้ยงพระให้อิ่ม ของดี ๆ ขนไปให้พระกินหมด ให้พ่อแม่อดอยาก นี้ตกนรกกันหมด

 

          ถ้าหากว่าใครจะเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองให้มีความสุขสบายจริง ๆ แม้ว่าเราจะมีทรัพย์สมบัติมากมายก่ายกองในโลกนั้น เรามอบทรัพย์สมบัติบรรดาที่เรามีอยู่ ไปประเคนให้พ่อให้แม่ทั้งหมด หรือว่าเราอาจจะเอาพ่อเอาแม่ของเรานี้ เอาพ่อนั่งบนบ่าข้างหนึ่ง เอาแม่นั่งบนบ่าข้างหนึ่ง เอาศีรษะของเรารองรับสำรับเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อเวลาท่านหนักเบาก็ให้ท่านถ่ายราดตัวเราลงไป ทำอยู่อย่างนั้นจนตลอดชีวิต ก็ไม่ถือว่าเป็นการสนองพระคุณของท่านให้ถึงจิตถึงใจ หรือถึงที่สุดได้

 

          แต่ที่เราสนองพระคุณของท่านให้ถึงที่สุดได้ มันง่ายนิดเดียว ถ้าจะทำ ง่ายนิดเดียว ที่ว่าง่าย ทำอย่างไร ถ้าเรายังอยู่ในการปกครองใกล้ชิดพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่บอกว่า อย่านะลูก หยุดทันที อย่านะ หยุดทันที ทำไมถึงต้องหยุด พ่อแม่บางคน ถ้าหากเห็นว่าลูกของตนไม่อยู่ในโอวาทคำสั่งสอน ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ทำอะไรเอาแต่ใจตัวเอง บางทีถูกว่ากล่าวตักเตือน เดินลงส้นเท้าตึง ๆ หนีไปต่อหน้า พ่อแม่บางคนใจอ่อนแถมเป็นโรคหัวใจด้วย ประเดี๋ยวคนแก่ก็เป็นลมชักตาย หรือไม่ตายก็สลบไป ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น อนันตริยกรรม นี่คืออนันตริยกรรม

          อนันตริยกรรมมี ๕ อย่างคือ ๑. ฆ่าบิดา ๒. ฆ่ามารดา ๓. ฆ่าพระอรหันต์ ๔. ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน ๕. ยังพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด

 

หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 07:12 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack