A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 41 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • Thanks for finally talking about >%blog_title%
  • Thanks for finally talking about >%blog_title%
  • цена за уборку в доме после ремонта
  • workingholiday365.com
  • цены услуги уборки офисов
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 3 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 07:12 น.

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๓

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 


ปี พ.ศ. ๒๙๘๐

ไปธุดงค์กับพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

          ตอนนั้นเจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ท่านเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่องค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ได้ออกธุดงค์จากสกลนครเพื่อเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม และกราบคารวะหลวงปู่เสาร์ จึงได้แวะเวียนมาเยี่ยมเพื่อนสหธรรมิกของท่าน คือพระอาจารย์หมุน โพธิญาโณ ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อ เพื่อชักชวนกันออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมกรรมฐานและปรารภเกี่ยวกับเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา และการปฏิบัติเพื่อหาทางพ้นทุกข์

 

          ส่วนหลวงพ่อตอนนั้นเป็นสามเณร เป็นเณรน้อยอยู่ที่นั่น ก็มีโอกาสได้พบกับพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ในขณะนั้นท่านอยู่ในตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔ ได้ออกไปตรวจการคณะสงฆ์แทนพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ในการที่ได้พบกับพระอริยคุณาธารครั้งนี้ ท่านก็ได้ชักชวนไปด้วย ท่านอาจารย์หมุนท่านก็ฝากให้อีกทีหนึ่ง ท่านก็ชี้มาทางเราว่า

 

          “ไปเณร ไปด้วยกัน จะพาไปกราบพระธาตุพนม ไปกราบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ด้วยกัน จะพาไปฝากเรียนหนังสือ”

 

 

          จึงได้ออกเดินธุดงคกรรมฐานครั้งแรกกับเจ้าคุณอริยคุณาธาร ตอนนั้นท่านยังเป็นมหาเส็งอยู่ ยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณฯ จากจังหวัดสกลนครเพื่อไปนครพนม นมัสการพระธาตุพนม รอนแรมไปตามป่าเขา ค่ำไหนก็ปักกลดที่นั่น ในระหว่างการเดินธุดงค์ตลอดระยะทางก็ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านอาจารย์เนือง ๆ

 

          สมัยก่อนรถยนต์มันก็ไม่ค่อยมี เดินจนเท้าพองเท้าแตกหมด เหนื่อยก็เหนื่อย พอถึงที่ไหนพอสมควร ท่านก็พาพักตามร่มไม้ นั่งภาวนา เดินจงกรม ในขณะเดินทางก็เดินจงกรมไปด้วย พอใกล้พลบค่ำก็เตรียมที่พัก กางกลดกางมุ้งให้ท่าน ปัดกวาดบริเวณให้สะอาดเรียบร้อย ดูมดดูแมงว่ามีหรือไม่มี เสร็จก็เตรียมจัดน้ำใช้น้ำฉันไว้ให้ท่าน ถ้าท่าน้ำอยู่ใกล้ก็ไปจัดที่สรงน้ำ ถ้าภาระกิจรับใช้ท่านเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ท่านจะสั่งสอนอะไรเรา ก็รอฟังท่านก่อน ถ้าไม่มีอะไร ก็ทำวัตรสวดมนต์นั่งภาวนา เดินจงกรม จำวัด

 

          บางทีบางวันหลงทางหลงป่า เดินเท่าไหร่ก็ไม่ทะลุป่าซักที ท่านก็ให้ขึ้นต้นไม้ตะโกนเรียกชาวบ้าน เรียกพวกเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย พูด ๆ ไปแล้วก็สนุกดีเหมือนกัน การเดินธุดงค์

 

          จนล่วงเข้าสู่จุดหมายปลายทางที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงแวะเข้าพักที่วัดบูรพาราม ที่วัดบูรพารามแห่งนี้ ท่านเจ้าคุณฯ ท่านคงพิจารณาเห็นว่า โดยตำแหน่งหน้าที่ เจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔ มีหน้าที่จะต้องเดินทางออกตรวจการไปทุกจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หากจะต้องให้เราซึ่งเป็นเณรติดสอยห้อยตามไป ภารกิจคงจะไม่สะดวก ท่านก็เลยฝากเอาไว้ที่วัดบูรพาราม อุบลฯ ได้อยู่กับหลวงตาพร ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น

 

 

เจริญตามรอยพ่อ

 ถ้าผมไม่ได้ดิบได้ดีจะไม่กลับบ้าน

          บวชวัดมหานิกาย ๑ พรรษา สอบได้นักธรรมตรี พอตกหน้าแล้ง หน้ามะขามหวาน หลวงตาเส็ง (เจ้าคุณอริยคุณาธาร) ชอบมะขามหวาน มาเยี่ยมบ้าน ชวนไปด้วย พาไปวัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ตอนท่านเดินทางกลับสกลฯ ฝากหลวงพ่อไว้กับ พระอาจารย์พร (สุมโน) พระอาจารย์บุญ ชินวํโส หลวงพ่อคิดถึงบ้าน คิดถึงครูบาอาจารย์จนร้องไห้ ไอ้ศักดิ์ เด็กอายุ ๘ ขวบ ไปเห็นเข้า ไปเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง ท่านเรียกไปพบและถามว่า “จะกลับด้วยกันไหม”

 

          ตอบว่า “ผมอยากกลับ แต่ไม่กลับ คิดถึงบ้านแทบขาดใจ แต่ไม่กลับ จะไปตายดาบหน้า พ่อผมออกจากบ้านตั้งแต่อายุ ๑๕-๑๖ ปี ไปได้ลูกเมียที่อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ผมคิดว่าจะเจริญรอยตามพ่อ ถ้าผมไม่ได้ดิบได้ดีจะไม่กลับบ้าน เป็นเณรถ้าสอบมหา ๓ ประโยคไม่ได้จะไม่กลับบ้าน”

 

          วันหนึ่งหลวงพ่อได้อ่านหนังสือ ผู้ชนะสิบทิศ ก็ได้ความคิดว่า “คนเรามีมานะในทางที่ถูกต้อง มันต้องเอาชนะได้ทุกอย่าง” พวกที่เคยหมิ่นประมาทหลวงพ่อสมัยก่อน เดี๋ยวนี้มองหน้าไม่ติด

 

 

สามเณรทั้ง ๓ ตั้งปณิธาน

 เราจะบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดซีวิต

          ท่านพระครูญาณวิจิตร (มานิตย์ สุรปญฺโญ) วัดประชาอุทิศ อำเภอคำเขื่อนแก้ว ยโสธร ท่านเจ้าคุณอุดมสังวรคุณ (วัน อุตฺตโม) วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม สกลนคร และ เจ้าคุณชินวงศาจารย์ (พุธ ฐานิโย) เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน... เราทั้งสามได้เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก และเมื่อได้มาบรรพชาในพระพุทธศาสนาได้มาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกันคือพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารในอดีต ซึ่งปัจจุบันคือมหาเส็งเปรียญ ๖ ประโยค ซึ่งละเพศเป็นคฤหัสถ์และเสียชีวิตแล้วที่วัดป่าสาลวัน ซึ่งเราได้ดูแลรักษาพยาบาลจนสุดความสามารถ สมกับท่านได้เลี้ยงดูเรามาด้วยอรรถด้วยธรรม ถ้าไม่มีท่าน ก็ไม่มีเราในวันนี้ อะไรที่เราทำให้ท่านได้ เราทำให้ท่านหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมอ เรื่องค่ารักษาตลอดจนเอามาอยู่ดูแลด้วย ที่วัดป่าสาลวัน

          เราสามเณรทั้ง ๓ ได้เดินธุดงค์และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมร่วมกันมา และได้ปฏิญาณตนว่าเราจะบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต ครั้นอยู่มาเมื่ออายุพรรษาพอสมควรก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะฯ เจ้าอาวาส และเป็นพระสมณศักดิ์


 

มหานิกาย-ธรรมยุต

 ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่หย่อนวินัยบางข้อ

          เมื่อก่อนเราบวชเป็นพระมหานิกายเราเกลียดธรรมยุต พอได้ยินคำว่า ธรรมยุต เหม็นเบื่อ แล้วเราก็มาสนใจปฏิบัติ เราก็แสวงหาอาจารย์ที่เป็นนักปฏิบัติ อาจารย์ของเราก็เป็นพระปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ท่านก็เก่งเหมือนกัน ไม่น้อยหน้าพระธรรมยุต บางท่านไม่ฉันเนื้อ ไม่ฉันปลา ฉันแต่เจ เคร่งถึงขนาดนั้น แต่ได้มามองดูวินัยบางอย่างท่านเหลวไหล เช่นอย่างการนับเงิน นับทอง ใช้เงินใช้ทองด้วยตนเอง ทีนี้ กาลิก หมายถึง สิ่งที่มีกำหนดกาลเวลาจำกัด เช่นอย่างอาหารนี้ เรารับประเคนได้จากเช้าจนเที่ยง น้ำตาลเป็นสัตตาหกาลิก รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้ภายใน ๗ วัน แต่จะฉันได้เป็นยาเท่านั้น

 

          แล้วก็มีพระองค์หนึ่ง บอกว่าน้ำตาลที่ข้าเอาไปฉันนั้น กินกับข้าวก็อร่อย ทีนี้พอได้ยินเข้า น้ำตาลนี้รับประเคนแล้ว รับประเคนได้แค่ ๗ วัน มันก็กลายเป็นพวกอาหาร จึงได้รู้ว่าครูบาอาจารย์ของเรานี้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่หย่อนวินัยบางข้อ

 

 

ญัตติเป็นสามเณรธรรมยุต

 เขามีผ้าดี ๆ มีสบู่เหลวใช้ เรามีแต่สบู่ซันไลท์

          วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๘๑ หลวงพ่อได้บรรพชาใหม่เป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุต ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) แห่งวัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์

 

          สมัยเป็นสามเณร เป็นลูกศิษย์หลวงตาพร เพื่อนเขาเป็นลูกศิษย์พระมีชื่อเสียง เขามีผ้าดี ๆ มีสบู่เหลวใช้ เรามีแต่สบู่ซันไลท์

 

          สมัยก่อนวันโกน วันพระ พระมักจะไปเยี่ยมโปรดโยมพ่อโยมแม่ เราไม่มีพ่อมีแม่ ก็ไปโปรดโยมที่เลี้ยงมา (แม่อา) มีเพื่อนไปด้วย เพื่อนกลับมาเล่าให้อาจารย์ฟังว่า “เณรพุธนี้เทศน์เก่งนะ”

 

          เมื่อเข้ามาอยู่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลฯ ได้มาอยู่รับใช้หลวงตาพรและได้มีโอกาลอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่เสาร์เป็นครั้งคราว เพราะในขณะนั้นองค์ท่านก็มาจำพรรษาที่วัดบูรพารามนี้ นอกจากจะรับใช้ครูบาอาจารย์แล้ว ยังต้องศึกษาด้านปริยัติควบคู่กันไปด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือข้อวัตรปฏิบัติที่องค์หลวงปู่เสาร์พร่ำสั่งสอน ยังติดตาตรึงใจในองค์ท่านตลอดมา การศึกษาด้านปริยัติก็สอบได้เป็นลำดับ

 

          หลังจากศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและปริยัติธรรมจากครูบาอาจารย์พอสมควรแล้ว มีความมุ่งมั่นอยากจะร่ำเรียนให้สูง ๆ ขึ้นไปอีก ก็มีความคิดอยากจะเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะที่อุบลฯ ไม่มีครูสอน หลวงตาพรท่านก็รับปากว่าจะนำไปฝากไว้กับอุปัชฌาย์ของท่าน คือ เจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร วัดสระปทุมฯ

 

 

อยู่กับหลวงตาพร

          วินัยนี่แน่นอนที่สุด...หลวงตาพร... วินัยกับการประหยัด เวลาก่อสร้างนี้ พวกคนก่อสร้างเขาทำปูนตกเพียงแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านไปเก็บหมด แต่ว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อลูกศิษย์นี่.. ยอด.. หาไม่มีใครเปรียบเทียบ ขนาดเขาเอาน้ำดื่ม น้ำปานะมาแก้วเดียว เอาจอกเล็ก ๆ มาแบ่ง ๆ ๆ ๆ พระเณรเท่าไรให้ได้ฉันทั่วกันหมด หลวงตาองค์นี้เป็นอย่างนั้น อยู่ที่วัดบูรพา

 

 

หลวงตาพร อาจารย์ของหลวงพ่อ

พรเอ๊ย! เจ้าก็ฝึกฝนกับครูบาอาจารย์ตั้ง ๑๐ ปี พ้นนิสสัยมุตก์แล้วพอจะช่วยตัวเองได้

 

          อย่างหลวงตาพร ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อ ในสมัยที่ท่านออกจากฆราวาสไปบวช ทีแรกก็ไปอาศัยอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์มั่นบังคับให้บวชเป็นตาเถรชีผ้าขาวอยู่ ๓ ปี อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติจนจิตมีความสงบ รู้ธรรม เห็นธรรม รู้ธรรมวินัย ระเบียบปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์และพระศาสนาเป็นอย่างดี แล้วท่านก็ให้เปลี่ยนจากเพศชีผ้าขาวเป็นเพศสามเณร คือบวชเป็นเณรใหญ่อยู่อีก ๓ ปี พอครบ ๓ ปีแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้พามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปทุมวนาราม ในจังหวัดกรุงเทพฯ นี้เอง ซึ่งท่านอาจารย์มั่นท่านเป็นผู้นำมามอบให้พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเอง เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้

 

          เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่ในสำนักของท่านอาจารย์มั่น เอาใจใส่ปรนนิบัติอุปัฏฐากครูบาอาจารย์มิให้เดือดร้อน อาจาริยวัตร อุปัชฌายวัตร อย่างถูกต้องตามวินัยทุกประการ จนกระทั่งท่านอาจารย์มั่นพิจารณาดูอุปนิสัยและการปฏิบัติว่าสมควรพอที่จะออกบำเพ็ญโดยลำพังตัวเองได้แล้ว ท่านจึงเรียกมาสั่งว่า

          “พรเอ๊ย! เจ้าก็ฝึกฝนกับครูบาอาจารย์ตั้ง ๑๐ ปี พ้นนิสสัยมุตก์แล้วพอจะช่วยตัวเองได้ หลีกออกไปหาวิเวกเฉพาะตัวก่อนเถิด ให้โอกาสองค์อื่นเขาเข้ามาปรนนิบัติครูบาอาจารย์บ้าง”

 

          นั่นแหละ จึงจะได้ออกจากสำนักครูบาอาจารย์ นี้คือจารีตประเพณีของพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ในสมัยอดีต ในสมัยที่ท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นยังดำรงชีวิตอยู่

 

 

ดุจดังบิดามารดาผู้ให้เกิด

ท่านเลี้ยงดูมาจริง ๆ เหมือนพ่อเหมือนแม่

          หลวงตาพร คืออาจารย์ของหลวงพ่อมาตั้งแต่สมัยเป็นเณร เป็นพี่ชายหลวงปู่บุญ (ชินวํโส) ท่านเลี้ยงดูมาจริง ๆ เหมือนพ่อเหมือนแม่.. ตอนนั้นท่านเพิ่งได้ ๑๐ พรรษาเท่านั้นเอง แต่ว่าพระ ๑๐ พรรษาสมัยนั้นมันไกลกันเหลือเกินกับพระ ๑๐ พรรษาสมัยนี้ มองดูแล้วเป็นพระที่น่าเลื่อมใสจริง ๆ พระ ๑๐ พรรษาสมัยนี้มีแต่ความจองหองพองขน

          อาจารย์ของหลวงพ่อจริงๆ คือพระอาจารย์พร เป็นหลวงตาพร.. หลวงตาพรท่านเคยมีครอบครัวมาแล้ว ตัวท่านชื่อพร อ้อ..ทีแรกชื่ออะไรน้อ..มาเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนเป็นพระ ท่านแต่งงานแล้ว แม่บ้านของท่านก็ชื่อ สอน พอท่านได้ลูกสาวมาท่านตั้งชื่อ พุธ เหมือนกัน (พ้องกับชื่อโยมพ่อ โยมแม่ของหลวงพ่อ และหลวงพ่อเอง ซึ่งชื่อ พร สอน และพุธเหมือนกัน) แล้วก็รู้สึกว่าท่านจะรักหลวงพ่อเหมือนกับลูกในท้องในไส้

          ตอนสมัยเป็นเณรนี้ โอ๊ย..น้อยหน้าต่ำตามากที่สุดเลย เขาทั้งหลายมีอาจารย์เก่ง ๆ เทศน์เก่ง โยมก็เยอะ อาจารย์ของเราเป็นหลวงตา ไม่ค่อยมีหน้ามีตากับเขาหรอก ทีนี้ต่อมาพวกที่มีอาจารย์ดี ๆ นั่นตกอับหมด

 

          ครั้งสุดท้ายไปกราบเยี่ยมท่าน ท่านถามว่า

          “พิจารณาดูพ่อหรือยังว่าเมื่อไรจะตาย”

          “อุ๊ย!... ไม่กล้าล่วงเกินครูบาอาจารย์หรอก”

 

 

ภูมิจิตภูมิธรรมท่านหลวงตาพร

พรเอ๊ย!... เจ้าก็มีความรู้พอที่จะคุ้มครองตัวเองได้แล้ว

          หลวงตาพรติดตามหลวงปู่มั่นอยู่ ๙ ปี เพราะฉะนั้นหลวงพ่อมาพบหลวงตาพรแล้วหลวงพ่อจึงไม่กระตือรือร้นที่จะไปพบอาจารย์มั่น ระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติทุกอย่างถอดแบบเอามาเปรี๊ยะเลย เมื่อก่อนนี้ เพื่อนฝูง ลูกศิษย์หลวงพ่อดี (หลวงปูดี ฉนฺโน) ลูกศิษย์อาจารย์เสงี่ยม ลูกศิษย์อาจารย์บุ อาจารย์เขาดัง ๆ ทั้งนั้น มีอาจารย์หลวงพ่อ เป็นหลวงตา ไม่ค่อยมีใครสนใจ

 

          ที่นี้มันขำ ๆ อยู่วันหนึ่ง นายโพธิ์ ส่งศรี กับขุนศิริสมานการ โยมโพธิ์บ้านอยู่หน้าไปรษณีย์เมืองอุบลฯ ๒ คนนี่แหละ... หลวงตาพรนี่อยู่วัดบูรพา วัดบูรพาเป็นวัดบ้าน แล้วตอนแรกอาจารย์ดีไปอยู่บ้านท่าบ่อ ที่โรงเรียนกสิกรรมบ้านท่าบ่อ พวกนายโพธิ์ นายขุนศิรินี่แหละ ไปนิมนต์มาอยู่วัดบูรพาฯ ตอนด้านตะวันออกวัดบูรพาฯ เป็นสวนของนายจอม นายจอมก็บริจาคที่สวนนี้ให้ประมาณ ๒ ไร่เศษ ให้เป็นวัดป่า ตอนนั้นให้เป็นวัดป่า ตอนนี้ให้เป็นวัดบ้าน ทีนี้พวกญาติโยมก็แตกตื่นกันไป ไปนั่งสมาธิทุกวัน ๆ

 

          อยู่มาวันหนึ่งนายโพธิ์กับขุนศิรินี้แหละ มากราบท่านหลวงตาพร มาบอกว่า

          “ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านมาสอนกรรมฐานเขาอยู่ทุกวันๆ ไม่นึกอยากได้ดิบได้ดีกับเขาบ้างหรือ”

 

          เขาว่าหลวงตาพร

 

          “นี่ อาจารย์ท่านให้มานิมนต์ไป ไปฝึกกรรมฐาน”

          “อุ๊ย! ถ้าครูบาอาจารย์จะเมตตาสงสารอย่างนั้นก็ดีแล้ว ที่ไม่กล้าไป ก็ไม่นึกว่าท่านจะเมตตาสงสารถึงขนาดนี้ เออ...ไปเรียนท่าน เดี๋ยวอาตมาจะไป”

          พอโยมกลับไปแล้วหลวงตาพรก็เตรียมไป ไปก็เข้าไปกราบหลวงปู่ดี แต่ด้วยความทะนงของอาจารย์กรรมฐาน ก็ถามหลวงตาพรอย่างดูถูกเหยียดหยาม ว่างั้นเถอะ

 

          “พร! ภาวนาเป็นไหม”

 

          “ก็จั๊กจะเป็นหรือไม่เป็นก็สวดมนต์ไหว้พระภาวนาไปอย่างนั้นแหละ ภาวนาก็พุทโธ พุทโธนั่นแหละ แต่ไม่ทราบว่ามันจะถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่รู้”

 

          ทีนี้พอเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ดีก็บอกวิธีให้นั่งสมาธิ นั่งขัดสมาธิเอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง กำหนดจิตนึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ หนแล้วก็นึกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

 

          อยู่ที่จิต เราจะกำหนดเอาจิตอย่างเดียว เสร็จแล้วพอไหว้พระสวดมนต์เสร็จก็นั่งสมาธิ ท่านก็หันหน้ามา

 

          “เอ้า! พรนั่งสมาธิ”

 

          “เรื่องนั่งสมาธินี้ทำอย่างนี้ใช่ไหมอาจารย์”

 

          พอทำไปจังหวัดไหนก็ถาม

 

          “อย่างนี้ถูกต้องไหมอาจารย์”

 

          “เออ! ถูกแล้ว”

 

          เสร็จแล้ว พอนั่งสมาธิ พวกพระพวกเณรอื่น ๆ ระดับครูบาอาจารย์เลิกหมด ญาติโยมก็เลิกหมด วันนั้นหลวงตาพรนั่งอยู่ ๒ ชั่วโมง เสร็จแล้วท่านก็กระดุกกระดิกออกจากสมาธิ

 

          “โอ้! ทำไมนั่งนานแท้ พร”

          “เอ้ ความรู้สึกของผมนี้รู้สึกว่ามันไม่นานนะ มันแพล๊บเดียวเท่านั้นเอง มันยังไม่รู้สึกเหนื่อยเลย”

          “แล้วมันเป็นอย่างไร จิตมันเป็นอย่างไร”

          “เออ! เดี๋ยวจะเล่าถวายครูบาอาจารย์ เป็นอย่างนี้จะถูกต้องหรือเปล่า พอภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ไป ๓ คำ จิตมันก็วูบลงไป มันไปนิ่ง สว่าง กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ แล้วมันก็เกิดปีติ พอรู้สึกว่ามันเกิดปีติ เกิดความสุข ความคิดมันก็ฟุ้ง ๆ ๆ ๆ ขึ้นมา แล้วตอนนั้นความตั้งใจอะไรต่างๆ สัญญาเจตนามันหายไปหมด มีแต่ความเป็นเองของจิต แล้วมันก็กำหนดรู้ความคิดที่มันปรุงแต่งขึ้นมาของมันเรื่อยไป”

 

          “แล้วมันคิดอะไรบ้าง”

 

          “สารพัดที่มันจะคิด บางทีมันก็คิดไปโลกไปธรรมสารพัด คิดไปถึงนรก คิดไปถึงสวรรค์ คิดถึงเรื่องชีวิตประจำวันในปัจจุบัน สารพัดที่มันจะคิด จิตในเมื่อมันเข้าสมาธิตามธรรมชาติของมันแล้ว เราไม่มีความสามารถที่จะไปควบคุมมันได้ จริงไหม อาจารย์”

          อาจารย์ดีชักงง “มันจะไปไหนมาไหนมันไปเองของมัน บางทีมันกระโดดไปโน่น ไปเมืองสกลนครโน่น บางทีกระโดดไปอำเภอเขื่องฯ บางทีไปยโสธร บางทีไปกรุงเทพฯ สารพัดที่มันจะไป ทั้งที่มันคิดปรุงแต่งขึ้นมานั่น มันเอาระเบียบแบบแผนไม่ได้ แต่ว่าสตินี้มันคอยจ้อง ๆ อยู่ มันจะไปไหนมาไหน ๆ สติตัวนี้ก็ไล่ตาม ๆ ๆ ๆ คอยควบคุม มันเป็นอย่างนี้ มันจะถูกหรือมันจะผิดท่านอาจารย์”

          ท่านอาจารย์ดีชักงง ไม่ยอมให้คำตอบ

          พอตื่นเช้ามา มากันแต่เช้ามืด ปกติพอเช้ามืดพวกเราก็ทำวัตรเช้ากัน พอมา ท่านอาจารย์ดีก็ถามว่า

 

          “พร! ขอถามหน่อยเถอะว่า เป็นใครมาจากไหน”

 

          “เอ้า! ก็นึกว่าครูบาอาจารย์ทราบดีแล้ว ท่านอาจารย์ก็รู้ดีอยู่แล้วไม่น่าจะถาม”

          “เพราะไม่รู้นั่นแหละจึงมาถาม”

 

          “ถ้าหากครูบาอาจารย์ต้องการอยากจะทราบ ก็จะเล่าให้ฟัง ผมเป็นคนทุพพลภาพ ครองบ้านครองเรือนไม่ได้ ผมเคยมีครอบครัวแล้ว มีลูกคนหนึ่ง มาภายหลังนี้ สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ไหว ก็เลยมอบทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้แม่บ้านกับลูกสาวคนหนึ่งให้เขาครอบครอง แล้วก็สั่งเขาว่าอยากมีใหม่ก็มีซะ ฉันก็ไปแล้ว ทีแรกก็ไปอาศัยอยู่ที่วัดบ้านม่วงไข่ ซึ่งหลวงปู่มั่นอยู่นั่น วันหนึ่งไปล้างถ้วยล้างชามขัดกระถงกระโถน ท่านก็เดินไป

          พร! เจ้าอยากบวชไหม

 

          โอ้ย! ถ้าครูบาอาจารย์จะเมตตาสงสาร ก็อยากบวชแล้ว เอ่อ! ถ้างั้นเก็บสิ่งของแล้วไปหาเราที่กุฏิ เด้อ

 

          พอไป ท่านก็เอาผ้าขาวนี้มาตัดกางเกง ตัดเย็บกางเกงเอง กางเกงขาก๊วย แล้วก็ตัดเสื้อ เสื้อก็เสื้อโปโลนี้แหละ พอเสร็จแล้วท่านก็ไปเอามีดโกนมาโกนหัวให้ โกนหัวให้เอง พอโกนหัวเสร็จแล้วให้อาบน้ำอาบท่า เอ้า! ใส่ชุดนี้แล้วก็มาปฏิญาณตนเป็นอุบาสก บวชเป็นตาชีผ้าขาว แล้วก็เป็นชีผ้าขาวอยู่กับท่าน ๓ ปี พอเสร็จแล้วท่านก็บวชเป็นเณรให้ เป็นเณรอยู่ ๓ ปี ทีนี้พอเสร็จแล้วก็พาไปกรุงเทพฯ ก็ไปบวชเป็นพระ อยู่ที่วัดสระปทุม ตกลงว่าอยู่ในสำนักของหลวงปู่มั่น ๙ ปี ที่ออกจากท่านมานี้เพราะโยมแม่ที่อำเภอเขื่องในเสียชีวิต เขาโทรเลขไป ก็มาทำศพแม่ หลังจากนั้นก็เลยไม่ได้กลับไปหาท่านอีก เพราะท่านสั่งว่า พรเอ๊ย! เจ้าก็มีความรู้พอที่จะคุ้มครองตัวเองได้แล้ว ปลีกตัวออกไปปฏิบัติโดยลำพังก็ได้ เปิดโอกาสให้องค์อื่นเขามาปรนนิบัติครูบาอาจารย์บ้าง

 

          ก็ยึดเอาคำนั่น คำพูดนั้น พอออกมาแล้วก็เลยไม่กลับไปอีก ภายหลังเจ้าคุณศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ก็ให้มาอยู่ที่นี้ที่วัดบูรพาฯ นี้”

 

          พออาจารย์ดีฟังเล่าจบก็

 

          “โอ๊ย! ทำไมไม่บอกให้รู้กันแต่ทีแรก”

          “เอ้า! ก็ครูบาอาจารย์ย่อมมีวิจารณญาณ ย่อมดูคนออกว่าใครเป็นอย่างไร มีภูมิจิตภูมิใจตื้นลึกหน้าบางเพียงใด แค่ไหน ครูบาอาจารย์ก็ย่อมรู้อยู่แล้ว”

 

          ทีหลังมาพวกญาติโยมทั้งหลายที่แห่กันไปปฏิบัติ เวลาท่านอาจารย์ดีไม่อยู่ เขาก็นิมนต์อาจารย์พรไปพานั่งสมาธิ แต่ท่านพูดอะไรท่านไม่มีโวหารหรอก พูดเอาแต่หัวใจ

 

 

วัตรปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์

การพ้นนิสสัยมุตตกะเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์

          สมัยนั้นเป็นสามเณรน้อย ๆ อายุเพียง ๑๔ - ๑๕ ปี เคยอยู่ร่วมกับครูบาอาจารย์ ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์นั่งประชุมกันอยู่หรืออยู่ในอาวาสนั้น ๆ ทำหน้าที่ของการถกปัญหาหรือแก้ปัญหา จะต้องเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า ไม่ใช่ว่าเราต่างคนจะต่างมานั่งเทศน์แข่งกันอยู่อย่างในสมัยปัจจุบันนี้

 

          แม้แต่การถือนิสสัยครูบาอาจารย์ตามระเบียบวินัยก็ตาม เราอยู่ในสำนักของครูบาอาจารย์ เราไม่ได้นับอายุพรรษาครบ ๕ ว่าเราพ้นนิสสัยมุตตกะ เพราะเราถือว่า การพ้นนิสสัยมุตตกะนั้น จะต้องเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ยกให้ (นิสสัยมุตตกะ หมายถึง พ้นนิสัย คือสามารถคุ้มครองตัวเองได้แล้ว)

 

จิตรวมโดนเตะ

ถ้าจิตอยู่ในสมาธิละเอียด ถึงอัปปนาสมาธิ ฟ้าผ่าลงมามันก็ไม่รู้เรื่อง

          หลวงพ่อโดนอาจารย์เตะเอาตั้งแต่สมัยบวชเป็นเณรนั่น อาจารย์ไปธุระในบ้าน ท่านให้เฝ้ากุฏิ เพิ่งบวชมาได้ ๕-๖ วัน ทีนี้ในช่วงนั้น ภาวนาทำอย่างไร สมาธิทำอย่างไร เราก็ไม่รู้เรื่อง แต่นึกขึ้นมาได้ว่า ภาวนาพุทโธ พออาจารย์ไปในบ้านกลับเข้ามา จะเข้าไปนอนในกุฏิ กลัวว่าเวลาท่านมาจะปลุกไม่ตื่น ก็เลยนั่งเอาหลังพิงฝาประตู แล้วก็นั่งบริกรรมภาวนาพุทโธ จนกระทั่งมันหลับไป

 

          ทีนี้พอหลับไปแล้ว ท่านอาจารย์กลับมามันก็ดึก ๒ ยามแล้ว พอท่านมาปลุก ปลุกอย่างไรก็ไม่ตื่น จนกระทั่งท่านเตะเอาอย่างแรงถึงได้ตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมา ท่านก็ถามว่า “หลับหรือเปล่าเณร”

 

          “ไม่ได้หลับ”

 

          “เอ้า ! ไม่ได้หลับ ทำไมปลุกไม่ตื่น”

 

          “ไม่รู้เหมือนกัน เพราะในช่วงนั้น เรารู้สึกว่าเราไม่หลับ ภายในจิตนี้รู้อยู่ตลอดเวลา แต่มันไม่รับรู้เรื่องภายนอก”

 

          ทีนี้พวกโยมที่ตามมาส่งก็กล่าวหาว่า

          “อ้าว! บวชเป็นเณรแล้วทำไมโกหก”

          “ไม่ได้โกหก มันไม่ได้หลับจริง ๆ”

          ทีนี้ทางฝ่ายนั้นเขาหลายคน เถียงเขาไม่ขึ้น ก็เลย

          “เอ้า! โกหกก็โกหก”

          สมาธิที่แน่วแน่มาก จิตสมาธิอยู่ในฌาน ๔ นี้จะรู้สึกว่าไม่มีร่างกายตัวตน แต่ว่าจิตไปเอาความสว่างเป็นอารมณ์จึงจัดว่าเป็นรูปฌานอยู่ ในระหว่างนั้นจะไม่ได้ยินเสียงอะไร การได้ยินจะหายไปตั้งแต่จิตเข้าอุปจารสมาธิ เช่นอย่างเรานั่งฟังเทศน์อยู่ ฟังไป ๆ พอจิตเข้าสมาธิ มันจะไม่ได้ยินเสียง ตอนแรกจะรู้ดีกว่าได้ยิน แต่ไม่สนใจ พอหนัก ๆ เข้ามันละเอียดลงไปหน่อยหนึ่ง เสียงมันจะไม่ได้ยินเลย

 

          จิตที่อยู่ในอัปปนาสมาธิลึก หรือฌานที่ ๔ นี้ใครมาปลุกก็ไม่ตื่น ฟ้าผ่าลงมาก็ไม่รู้เรื่อง

 

        ไปกราบหลวงปู่เสาร์ เดินทางไปพบหลวงปู่เสาร์เมื่ออายุ ๑๗ ปี ก็เลยเก็บเอาปัญหานั้นไว้ในใจตลอดมาจนกระทั่งได้ไปพบหลวงปู่เสาร์ พอไปกราบหลวงปู่เสาร์ อาจารย์ที่เตะหลวงพ่อก็ไปด้วย พอไปกราบแล้ว ท่านก็ปรารภขึ้นมาว่า

 

          “เออ... คนที่ปฏิบัติสมาธินี้ ถ้าจิตอยู่ในสมาธิละเอียด ถึงอัปปนาสมาธิ ฟ้าผ่าลงมามันก็ไม่รู้เรื่อง จับไปถ่วงน้ำก็ไม่สำลักน้ำตาย โยนเข้ากองไฟก็ไม่รู้ตัว”

          เอ้อ!.. เราก็ได้ความภูมิใจ พอกลับไปถึงกุฏิ อาจารย์ท่านก็ว่า

         “เอ้อ! ที่เจ้าว่าเวลาเจ้ารู้สึกว่าความรู้สึกเมื่อยมันไม่มี แม้แต่ร่างกายมันก็ไม่มี แล้วจะเอาอะไรมาเมื่อย”

 

 

สามเณรปาฏิโมกข์

หลวงพ่อท่องปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่เป็นเณร

          หลวงพ่อท่องปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่เป็นเณร... แต่เป็นเณรยังไม่คล่องเท่าไร ได้กระท่อนกระแท่น แต่เมื่อเป็นพระ เรามีหน้าที่ต้องสวด จึงต้องท่อง ได้แต่พรรษาแรก...เป็นผู้สวดปาฏิโมกข์เกือบจะทุกวันพระ เพราะอยู่บ้านนอกมันหาพระสวดปาฏิโมกข์ยาก หลวงพ่อท่องปาฏิโมกข์จริง ๆ อยู่ ๑๕ วัน ท่องเสร็จแล้วก็ไปซ้อมกับครูบาอาจารย์ที่ท่านชำนาญ ตอนนั้นหลวงตาพรเป็นคนสอนท่อง

 

เณรนักเทศน์

เราเป็นเณรนั่งหลับตาก็ฟัดจ้อย ๆ ๆ ๆ

          สมัยหลวงพ่อเป็นเณรอยู่อุบลฯ วัดบูรพาราม มีผู้มานิมนต์พระไปงานบุญ ๙ รูป สมัยก่อนพระแต่ละวัดมีน้อย จึงจัดเณร (พุธ) ห้อยต่อท้ายไปด้วยเพราะเราตัวใหญ่กว่าเพื่อน เจ้าภาพเห็นเณรก็ไม่ค่อยพอใจ บ่นว่า

 

          “ไม่ได้นิมนต์เณร เอาเณรมาทำไม”

          จึงเกิดมานะขึ้นมาว่า “เณรมันจะไม่เก่งสักทีหรือ” จากนั้นก็อุตสาหะท่องกลอนเทศน์จนจับใจ

         ภายหลังมาพอไปบ้านที่เขามานิมนต์ หลวงตาพรท่านถูกทักท้วงอย่างนั้น ใครมานิมนต์ท่านก็ถาม

          “พระไม่พอเอาเณรไปด้วยได้ไหม”

          “ก็ได้ แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะจัด”

          หลวงตาพรท่านเทศน์ไม่ค่อยเก่ง พอไปงานไหนที่เขานิมนต์เทศน์ ท่านก็ว่า “ให้เณรพุธเทศน์”  พอมีคนมานิมนต์เทศน์ก็บอกว่า “เณรเทศน์แทนที”  ก็เตรียมเทศน์ ไม่ได้ถือหนังสือใบลานมาด้วย ท่านก็ไล่ให้ไปเอา ก็เฉย ท่านก็บอกให้ไปเอาหนังสือมา ก็ไปเอาหนังสือใบลานมา แต่ไม่ได้เปิดดู เพราะท่องได้ขึ้นใจหมดแล้ว เทศน์นั่งหลับตาฟัดจ้อย ๆ ๆ ๆ

          “โอ้ ! เณรนี้ทำไมเทศน์เก่งนัก”

 

          ทีหลังใครนิมนต์เทศน์  “เอาเณรพุธไปเทศน์ด้วยเด้อ”       เป็นการเทศน์ปากเปล่าครั้งแรก ขณะนั้นเราสอบนักธรรมโทได้แล้ว

          เรื่องที่เทศน์ท่องมาจากหนังสือ ชินวรเทศนา (แต่งโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์) มี ๕๐ กัณฑ์ ท่องได้เกือบหมด (หลวงพ่อท่องให้ฟังอย่างยืดยาวเป็นภาษาบาลี มีใจความแปลว่า ความตายไม่มีอะไรที่จะต้านทาน) นี่ มันเป็นนักเทศน์มานี่ สงสัยเพราะท่องกลอนเทศน์นั้น แต่เทศน์ไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง

 

          มาตอนหลังนี้พอมาปฏิบัติพอเข้าใจเรื่องธรรมะบ้างนี้ ส่วนใหญ่ไม่เอาแล้วตำรา อะไรที่มันเกิดขึ้นมา ก็เอามันเลย

         สมัยเด็ก ๆ เวลาอาจารย์เทศน์ ฟังผ่านหู พอท่านเทศน์เสร็จจำได้หมด พูดได้เป็นฉาก ๆ เรียนหนังสือวิชาย่อความได้คะแนนเต็มเป็นที่ ๑ ทุกที หลวงพ่อจะถนัดเทศน์ปฏิภาณ คือ ไม่ต้องถือหนังสือ

ทำบุญกับเณรน้อย

หากต้นใหญ่ตายไปใครจะบำรุงรักษาต้นเล็กต้นน้อย

          ทำบุญกับเณรน้อยน่าจะได้บุญมาก เพราะเณรไม่ค่อยมีใครสนใจจะทำบุญให้ ได้อะไรมานิดหน่อยก็ดีใจมาก ถ้าเราจะเลือกทำบุญเฉพาะกับพระอริยะก็ต้องนึกเสมอว่า กว่าท่านจะได้เป็นพระอริยะท่านต้องผ่านชีวิตเณรน้อยมาก่อน...ตอนเป็นเณรก็ได้อาศัยพระผู้ใหญ่ สรุปแล้วก็คือพระผู้ใหญ่เลี้ยงเณรน้อย เหมือนต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มให้อาหารต้นไม้เล็ก ๆ ถ้าเรามัวแต่มองหาต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านสาขา มีดอก มีผล แล้วไม่ใส่ใจต้นเล็กต้นน้อย เบี้ย กล้า หากต้นใหญ่ตายไปใครจะบำรุงรักษาต้นเล็กต้นน้อย ถ้าเราไม่ช่วยกันบำรุง มันก็เจริญเติบโตไม่ได้ อย่าดูถูกเณรน้อย

 

          เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดบรมนิวาสฯ ได้จับเด็ก ๆ มาบวชเณร แล้วให้มีโอกาสได้ร่ำได้เรียนเป็นร้อย ๆ องค์ มีคนมาทักว่าลูกศิษย์เจ้าคุณมีแต่หัวขี้กลาก กินข้าวเย็น ท่านย้อนว่า

          “อย่าไปว่ามัน อีกหน่อยพวกหัวขี้กลากพวกนี้แหละ มันจะค้ำจุนพระศาสนา”

 

          แล้วก็เป็นจริงอย่างที่ท่านว่า เพราะในภายหลังในบรรดาเณรที่ท่านชุบเลี้ยงไว้ ได้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายองค์เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าคุณธรรมบัณฑิต สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดนรนาถสุนทริการาม

 

 

สมัยก่อนเขาดูถูกพระสายป่า

ญาคูเอ๊ย! พาลูกพาเมียไปสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหนหนอ

          หลวงพ่ออดที่จะนึกถึงสมัยที่เป็นสามเณร เดินตามหลังครูบาอาจารย์ไม่ได้ ใส่ผ้าจีวรดำ ๆ เดินผ่านหน้าชาวบ้านหรือพระสงฆ์ทั่ว ๆ ไปนี้ เขาจะถุยน้ำลายขากใส่ บางทีถ้ามีแม่ชีเดินตามหลังไปด้วย เราจะได้ยินเสียงตะโกนมาเข้าหู

          “ญาคูเอ๊ย! พาลูกพาเมียไปสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหนหนอ” เขาว่าอย่างนี้

 

          มาบัดนี้ สิ่งที่เขาเกลียดมากที่สุดถึงกับถุยน้ำลาย เขามาแย่งเอาของเราไปห่มหมด ทำไม เพราะว่าสีผ้าชนิดนี้ลูกศิษย์สายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นเคยนุ่งห่มมาแล้ว พอลูกศิษย์สายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น มีชื่อเสียงโด่งดังมีคนนิยมชมชอบ ผ้าจีวรสีดำก็เลยเป็นสินค้าที่สนใจของคนทั่ว ๆ ไป บางทีพอมีใครถาม

 

          เป็นลูกศิษย์สายไหน?

          สายพระอาจารย์มั่น

          เดี๋ยวนี้มีแต่ลูกศิษย์อาจารย์มั่นเต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อลองมาพิจารณากันดูแล้ว ขอพูดสรุป ๆ ลงไปสั้น ๆ ว่า ถ้าใครตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ อย่าไปสนใจกับใครทั้งนั้น หลักฐานและเหตุผลต่าง ๆ เราได้ข้อมูลมาจากครูบาอาจารย์ของเราแล้ว

          เมื่อก่อนนี้ครูบาอาจารย์ของเรานี้ไปที่ไหน ๆ มีแต่เขาว่า

          พวกนี้น่ะใจแคบเห็นแก่ตัวตัดช่องน้อยเอาแต่ตัวรอดคนเดียว

          เอ้า! ในขณะที่ใครยังมองไม่เห็นคุณค่า ท่านก็ต้องเก็บสมบัติท่านเอาไว้ ทีนี้พอเกิดมีคนสนใจ ท่านก็เอาออกมาจ่าย พอจ่ายออกมาแล้วมันก็ได้ผล ทำให้มีคนปฏิบัติธรรมกว้างขวางออกไป

 

 

ให้ทานหมาขี้เรื้อน

จึงเอามือล้วงให้อาเจียนออกมา ให้หมาได้กิน

          สมัยที่หลวงพ่อเป็นเณรอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี วันหนึ่งเพิ่งฉันเสร็จกำลังจะไปล้างบาตร เหลือบไปเห็นหมาขี้เรื้อนหิวโซ เดินโซซัดโซเซ ใกล้จะหมดแรงเต็มที เกิดความสงสารจับใจ มองดูข้าวในบาตรก็ฉันเกลี้ยง เพราะครูบาอาจารย์สอนไว้ว่าเป็นธรรมเนียมพระธุดงค์จะฉันให้หมดบาตรเสมอ ไม่ให้กินทิ้งกินขว้าง

 

          มองหาอาหารรอบทิศ ก็ไม่มีอะไรพอประทังความหิวของหมาน้อยได้ เจ้าหมาที่น่าสงสารก็ใกล้จะหมดแรง เมื่อหมดหนทาง ก็นึกได้ อาหารเพิ่งฉันใหม่ ๆ พอจะเรียกคืนมาให้เจ้าหมาน้อยได้ จึงเอามือล้วงคอให้อาเจียนออกมา หมาตัวนั้นคลานมาฟุบตรงเศษอาหารจากลำคอของเราพอดี มันได้กินอาหารนั้นจนมีกำลังขึ้น เราก็เรียกอาหารใหม่ออกมาจนหมดท้อง จนอาหารเก่าเริ่มระบายออกมาด้วย พอเห็นสุนัขมีแรงก็หยุด เจ้าหมาตัวนั้นได้แรงขนาดวิ่งเหยาะ ๆ ตามเราได้

 

          จากนั้นมา ลาภสักการะในเรื่องอาหารการกินนี้มีมากเสียจนเขาบังคับให้กิน บางรายทำอาหารประณีตมาถวาย เห็นเราไม่แตะต้องเลย ก็กลับไปนอนร้องไห้ (เขามาเล่าให้หลวงพ่อฟังเอง) หลวงพ่อจึงต้องพยายามฉันให้เขาทุกครั้งเพื่อรักษาน้ำใจ

 

 

เป็นเณรชอบสาวชื่อ “ประยูร”

เลยเอาชื่อมันมาบริกรรมภาวนาซะเลย

          สมัยเป็นเณรอยู่เมืองอุบลฯ นี้ หลวงตาพรท่านสอนให้นั่งบริกรรมทุกวัน ท่านให้ท่อง พุทโธ ๆ ในช่วงนั้นจิตมันชอบสาวอยู่คนหนึ่ง ชื่อมันว่า ประยูร เราภาวนา พุทโธ มันทิ้งพุทโธปั๊บ มันก็ท่องว่า ประยูร ๆ จะตายเพราะยายประยูรนี้ละ เลยเอาชื่อมันมาบริกรรมภาวนาซะเลย มันติดอยู่ดังเดิมแล้ว เราภาวนาทุกวัน ทีนี้เวลาจิตมันอยู่คงที่แล้ว คำว่าประยูรมันก็หายไป หนัก ๆ เข้าร่างกายตัวตนของเรามันก็หายไป พอจิตสงบ เกิดนิมิตภาพแม่ประยูรปรากฏขึ้น พิจารณาว่าผมสวย ผมก็ร่วงหลุดลงมา ว่าตาสวยตาก็หลุดออกมา นึกว่าคนสวยนี้แม้แต่กระดูกก็ยังสวย กระดูกก็ร่วงหล่นสูญสลายไปกับแผ่นดิน พอตื่นจากสมาธิ ร่างกายตัวตนของเธอก็หายไปแล้ว ชื่อของเธอก็หายไปแล้ว มันก็หายไปหมดแล้ว

 

หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 04:35 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack