A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 108 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • https://www.gcashlive.com
  • %% my homepage buy Full spectrum cbd oil uk: https...
  • Cool gay tube: https://mokujipedia.net/view/%E5%88...
  • Cool gay tube: http://wiki.nexus.io/index.php?titl...
  • finasteride celexa! finasteride photosensitivit y ...
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 9 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันศุกร์ที่ 02 มีนาคม 2012 เวลา 09:25 น.

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๙

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 

ได้เด็ก ๕ ขวบเป็นอาจารย์

“ มึงไม่ใช่พระดอก มึงไม่ใช่พระดอก”

          ตอนอยู่วัดแสนลำราญ ตอนนั้นอายุประมาณ ๓๐ กว่า ๆ ได้เด็กกับผู้หญิงเป็นอาจารย์ อาจารย์ใหญ่ของหลวงพ่อนี้คือใคร

          อาจารย์ใหญ่ของหลวงพ่อนี้ (คือ)เด็กอายุ ๕ ขวบ ทำไมจึงว่าอาจารย์ใหญ่ มันเดินตามหลังแม่มันมา แม่มันมาใส่บาตร พอมาแล้วมันมามองหน้า

 

          “มึงไม่ใช่พระดอก มึงไม่ใช่พระดอก”

          ทีแรกหงุดหงิดจะโกรธมัน

          เอ้า! พอรู้สึกว่าตัวเองจะโกรธมัน เลยมานึกได้ว่า

          “อ๋อ! ถูกของมันนี้เราไม่ใช่พระ ถ้าเป็นพระอย่าโกรธซิ”

          ก็เลยหายโกรธ เลยถือเอาบักน้อยนี้เป็นอาจารย์

 

 

 

โดนผู้หญิงกอด

 มีอะไรมาสัมผัส เนื้อผู้ชายเนื้อผู้หญิงมันก็ผิดกัน

          แล้ววันนั้น ถ้าว่าชวย ก็ชวยฉิบหายเลย ถ้าว่าโชคดีก็โชคดี พอไอ้เด็กน้อยมันด่า พอเดินบิณฑบาตมาถึงปลายแถวจะเข้าวัด ตอนนั้นเขากำลังเอาหินเอาอะไรมากอง เขาซ่อมถนนใหม่ ผู้หญิงแขกคนหนึ่งมันขี่มอเตอร์ไซด์น้อยของมัน ต๊อด ๆ ๆ ไป รถยนต์วิ่งสวนมาจะชนมัน มันหักแฉลบขึ้นไปบนกองดินซึ่งเรากำลังไต่อยู่ มันเห็นท่ามันจะตกคอหัก มันก็ทิ้งรถมอเตอร์ไซค์มากระโดดกอดคอเราเลย

 

          พอเรารู้ตัวว่ามีอะไรมาสัมผัส เนื้อผู้ชายเนื้อผู้หญิงมันก็ผิดกัน เรายืนหลับตากำหนดจิตปั๊บ พอลืมตาขึ้นเห็นมันนั่งคุกเข่ากราบอยู่ปลายเท้า

 

          “หนูขอขมาโทษครูบาอาจารย์อย่าให้หนูเป็นบาปเป็นกรรม หนูไม่ได้เจตนา”

          “เออ! ไม่เป็นไรหรอกลูก พ่อก็กำลังสำรวมจิตของพ่ออยู่เหมือนกัน”

          พอกลับไปถึงบ้าน มันชวนผัวมันเอาขันดอกไม้มาขอขมาซ้ำอีก วันนั้นได้อาจารย์สอนสองคนเลย..เจอเด็กก่อน พอจะเข้าวัดเจอผู้หญิง มันคล้าย ๆ กับว่าความโกรธกับความรักมันมีโทษเท่ากัน

 

 

 

พรรษาที่ ๒๗ - ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๑๒)

จำพรรษา ที่

วัดหลวงสุมังคลาราม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

ประวัติวัด

พ.ศ. ๒๕๑๑ พระชินวงศาจารย์ เป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ

          วัดหลวงสุมังคลารามนี้ เมื่อได้ยกขึ้นเป็นวัดธรรมยุต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺสมหาเถร) ครั้งดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ที่ “พระพรหมมุนี” และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล ได้ประชุมคณะสงฆ์จังหวัดขุขันธ์ มีพระครูธรรมจินดามหามุนี สมัยนั้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธาน ได้ขอวัดหลวงสุมังคลารามเป็นวัดธรรมยุต เมื่อคณะสงฆ์จังหวัดขุขันธ์ซึ่งมีพระธรรมจินดามหามุนี เป็นประธานอนุมัติแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ศรี ฐิตธมฺโม จากสำนักวัดพิชัยญาติการาม จังหวัดธนบุรี มาเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลาราม และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวด

 

          เมื่อการต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๙ พระอาจารย์ศรี ฐิตธมฺโม ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูสิริสารคุณ” และได้รับตำแหน่งให้เป็นเจ้าคณะแขวงน้ำอ้อม (กันทรลักษ์) ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นั้นเอง

 

          เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้อาราธนา พระมหาอิ่ม องฺกุโร ป.ธ. ๔ น.ธ.เอก สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม จังหวัดพระนคร มาเป็นที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลาราม และเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดขุขันธ์ (ทั้งสองนิกาย)

 

          พ.ศ. ๒๔๘๑ ทางราชการกระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็น จังหวัดศรีสะเกษ

          พ.ศ. ๒๔๘๓ พระมหาอิ่ม องฺกุโร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูชินวงศาจารย์” ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ปกครองทั้ง ๑ นิกาย)

 

          พ.ศ. ๒๔๘๔ พระครูชินวงศาจารย์ (อิ่ม) ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระราชาคณะในนามเดิมที่ “พระชินวงศาจารย์” ปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๔  จึงได้ลาสิกขาไป

 

          พ.ศ. ๒๔๙๕ พระราชคุณาภรณ์ (ดาว ญาณธโร) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ธรรมยุต ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ถึงแก่มรณภาพ

 

          พ.ศ. ๒๕๑๑ พระชินวงศาจารย์ (พุธ ฐานิโย) แห่งสำนักวัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุต) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๓ ได้ลาออกจากตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารโรงเรียนพระสังฆาธิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา

 

          วัดหลวงสุมังคลาราม ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ นั้นทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเป็นต้นมา ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ประจำปี ๒๕๑๒

 

 

สาเหตุที่ลาออกจากเจ้าคณะจังหวัด

ไปเป็นกรรมการบริหารโรงเรียนพระลังฆาธิการ

          พอเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษตายลงแล้ว มันก็มีแต่เรื่องวุ่นวาย เขาก็พากันแย่งกันเป็นเจ้าคณะจังหวัด มันยุ่งวุ่นวายกันนัก พระผู้ใหญ่จึงไปนิมนต์หลวงพ่อมาจากวัดแสนสำราญ...เป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษอยู่ ๑ ปีกับ ๘ เดือนถึงได้ลาออก

 

         ทีแรกพระผู้ใหญ่จะขอยืมตัวไปเป็นกรรมการบริหารโรงเรียนพระสังฆาธิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เราก็เห็นว่า เอ๊ะ...ถ้าจะไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดอื่น ก็ควรลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษเสียก่อน หลวงพ่อก็ยื่นใบลาออกเลย จะไปกันท่าเขาไว้ทำไม คนที่เขาอยากเป็นเขาก็มีคุณสมบัติพร้อม แต่ว่าก่อนอื่นนี้ขอให้เจ้าคณะภาคตั้งหลวงปู่ศรี เป็นเจ้าคณะจังหวัดก่อน พอท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด ท่านเป็นเจ้าคุณแล้ว ค่อยให้ท่านลาออก

 

          เจ้าคณะภาคก็หันมาถามว่า ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น

 

          หลวงพ่อบอกว่า เราลบหลู่ครูบาอาจารย์มามากแล้ว ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ต่อไปใครมาเป็นเจ้าคณะจังหวัดจะต้องตาย ตายติดต่อกันถึง ๓ องค์ ถ้าหลวงพ่อไม่ไป หลวงพ่อก็ต้องตาย อันนี้คือความวิบัติของคณะสงฆ์ พวกเรามองข้ามว่าท่านไม่มีความสามารถ ทีนี้หนังสือไทยตัวแรกก็หลวงปู่ศรีนี้แหละเอาไปสอนชาวศรีสะเกษ

 

          ท่านก็เป็นเจ้าคณะอำเภอ พาลูกพาหลานพัฒนาบ้านเมือง ถนนหนทางในเมืองศรีสะเกษนั่น ท่านวางแผนจนเขาตั้งชื่อถนนสายหนึ่งเป็นอนุสรณ์ให้ท่านว่า ถนนศรีสุมัง ตั้งแต่สามแยกวัดหลังไปจนกระทั่งถึงบ้านกุดโง้ง เตลิดถึงกันทรลักษณ์

 

          พอหลวงพ่อลาออก อาจารย์มหานวย ไปพูดว่าเจ้าคณะภาคให้ท่านเป็นเสียเลย หลวงพ่อบอกว่าท่านอาจารย์อยากตายหรือ เสร็จแล้วขนาดหลวงปู่เป็นเจ้าคณะจังหวัดแล้วก็เป็นเจ้าคุณ ท่านลาออก อาจารย์มหานวยมาเป็นแทน ถึงกระนั้นอาจารย์มหานวยยังตายก่อน

 

 

การต่อสู้กับกามกิเลส

สมัยที่อายุยังน้อยกว่า ๕๐ ปี หลวงพ่อไม่ค่อยสุงสิงกับโยมผู้หญิง

          ในสมัยหนุ่ม ๆ ตอนที่จิตของหลวงพ่อยังไม่ตั้งมั่นมากนี้ ร่างกายมันก็แข็งแรง ถ้าไปอยู่ที่ไหนที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องกิเลสขึ้นมา หลวงพ่อจะต้องหนีทันที ถ้าอย่างสมมุติว่า ไปพักอยู่ที่วัดนี้ ถ้ามันเกิดมีสีกงสีกาอะไรที่น่าชอบอกชอบใจ มันเผลอไปชอบ เรากลัวมันจะเกิดอันตราย เราหนีทันที คือไม่พยายามที่จะเข้าใกล้ ถ้าโดยปกติแล้วที่หลวงพ่อปฏิบัติมานี้ สมัยที่อายุยังน้อยกว่า ๕๐ ปี หลวงพ่อไม่ค่อยสุงสิงกับโยมผู้หญิงเท่าไรหรอก คือรู้สึกกลัว

          หนึ่งกลัวครูบาอาจารย์

          สองกลัวว่าเราจะเสียท่ากิเลส ต้องพยายามหลีกเลี่ยงอยู่เสมอ

 

         แต่ถ้าจิตมันปรุงมันคิดขึ้นมาเอง เราต้องรีบระงับมันทันที ถ้าหากว่าระงับไม่ได้ ถ้ามันเกิดอารมณ์อย่างนั้นขึ้นมาในท่านั่ง เราลุกไปเดินจงกรม ถ้าไปเดินจงกรมมันไม่หาย เราก็มานั่งกำหนดพิจารณา ส่วนใหญ่พิจารณาอสุภกรรมฐาน หรือบางทีถ้าหากมันไม่ไหวจริง ๆ ก็เอาบทสวดมนต์ อิติปิโสฯ มาสวด สวดเร็วเข้า ๆ ๆ ๆ จนไม่ให้มีช่องว่างจะส่งกระแสจิตไปทางอื่น หรือไม่ก็ภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ให้มันเร็ว ๆ เข้า แล้วบางทีมันก็หายไปเอง บางทีก็หายไปเพราะใช้อำนาจการภาวนาข่ม บางทีก็หายไปเพราะเราใช้สติปัญญาพิจารณาหาเหตุหาผล จะด้วยประการใดก็ตามมันสำคัญอยู่ที่ความจริงใจ ว่าเราจะหนีมันหรือไม่หนีเท่านั้น

จิตเหมือนงูที่นอนอยู่ในโพรง

ธรรมดางูในเวลาที่มันอิ่มอาหารแล้ว มันจะนอนขดสบายอยู่ในโพรง

          หลวงปู่มั่นท่านเปรียบเทียบจิตของคนเราเหมือนกับงูที่นอนอยู่ในโพรง ธรรมดางูในเวลาที่มันอิ่มอาหารแล้ว มันจะนอนขดสบายอยู่ในโพรง แต่เมื่อมันเกิดหิวขึ้นมามันจะเลื้อยออกไปเที่ยวจับกินสัตว์เป็นอาหาร จนกว่ามันจะอิ่ม ในเมื่อมันอิ่มแล้ว มันก็จะย้อนกลับมาขดอยู่ในโพรงของมันตามเดิม

 

            นี่ เราลองมาวินิจฉัยโอวาทของครูบาอาจารย์ข้อนี้ดู จะได้ความว่าอย่างไร

          ตามนี้หลวงพ่อได้วิพากษ์วิจารณ์วิจัยดูแล้ว จึงได้ความว่า ในการปฏิบัติ ขณะใดจิตของเราที่มันคิดไปข้างนอก ฟังไปข้างนอก ที่เขาเรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน มันก็เปรียบเหมือนงูที่หิวอาหาร ในเมื่อมันออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอก อารมณ์เป็นอาหารของจิต ในเมื่อมันได้รับประทานอาหารของมันอิ่มแล้ว มันก็ย้อนเข้ามานิ่ง นิ่งอยู่ในถ้ำคือหทัยจิต ในท่ามกลางของร่างกายนั้นเอง ลักษณะของจิตที่มันเป็นไปก็เปรียบเหมือนงูนั่นแหละ

 

          เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติ ในเมื่อเรากำหนดจิตบริกรรมภาวนาก็ดี ในช่วงใดที่จิตของเราอยู่ในการควบคุมของเรา คือควบคุมจะให้เขาพิจารณาอะไร นึกถึงอะไร เราตั้งใจ ตั้งใจที่จะพิจารณาหรือนึกถึงสิ่งนั้น ๆ ความฝังใจนี้เป็นภาคปฏิบัติ ความตั้งใจมันถึงช่วยให้จิตสั่งงาน คือมีสมาธิ มีสติปัญญาเข้มแข็งขึ้น

 

 

          จิตเขาก็อยากจะเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นในบางครั้งเขาจึงนึกถึงอารมณ์อื่นที่เราไม่ได้ตั้งใจจะนึกถึง เพราะเขามีพลังงานพอที่จะหางานหรืออาหารมาป้อนให้กับตัวเองได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ปฏิบัติก็ควรจะปล่อยให้เขาคิดไปปรุงไป อย่าไปเข้าใจผิดว่าต้องดึงมาหาคำบริกรรมภาวนาอีก

 

 

          ในเมื่อเราปล่อยไป ๆ มีสติกำหนดตามรูปไป ๆ ถ้าจิตมันจะสงบขึ้นมา จะรู้สึกว่ากายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ

 

 

          ที่นี้ถ้าหากสมาธิเริ่มจะมีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น มันจะเกิดปีติ เกิดความสุข เมื่อเกิดปีติ เกิดความสุข ความคิดที่เชื่องช้าอยู่แต่ก่อนนั้น มันจะเพิ่มความเร็วขึ้น เร็วขึ้น ๆ จนกระทั่งเรารู้สึกแปลกใจ แปลกใจอยู่ตรงที่ว่าเราตั้งใจจะภาวนาให้จิตสงบนิ่ง แล้วทำไมจึงมีความคิดอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจผิดก็ไปมันคุมให้มันหยุดนิ่ง หรือให้มันอยู่กับภาวนาของเก่าตามเดิม ถ้าไปทำอย่างนั้นมันก็ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่

 

 

 

สรณะที่แน่นอน

ฝึกจิตของเราให้มีอำนาจเป็นอิสระแก่ตัวเอง

          สรณะที่แน่นอนที่สุดก็คือ ฝึกจิตของเราให้มีอำนาจเป็นอิสระแก่ตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร เพราะฉะนั้นหลวงพ่อสอนคนให้ปฏิบัติสมาธิเพื่อประสงค์อะไร หลวงพ่อก็จะบอกได้ว่า คนเรานี้เกิดมานี้มีฤทธิ์ มีอิทธิพล มีอำนาจอยู่ในตัวกันทั้งนั้น แต่มันจมอยู่ในจิตใต้สำนึก ในเมื่อเรามาปฏิบัติสมาธิ เป็นการปลุกจิตใต้สำนึกให้มันตื่นขึ้นมา เพื่อจิตของเราจะได้มีพลังงาน เราจะได้น้อมไปเพื่อประโยชน์แก่การทำงานในชีวิตประจำวันได้ทุกกรณี จิตใต้สำนึกมันตื่นขึ้นมามันเป็นยังไง เราจะรู้สึกว่าจิตของเรานี้มันมีสติรู้เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะกระดิกไปทางไหน สติมันจะตามพั๊บ ๆ ๆ ๆ ทุกขณะจิต อันนี้คือจิตใต้สำนึกมันตื่นขึ้นมาแล้ว

 

 

          ที่นี้พอเราทำอะไรลงไปนี่ ถ้าสิ่งใดที่มันผิดศีลผิดธรรมผิดกฎหมาย สติมันจะเตือนพั๊บ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา เราไม่ควรทำ อันนี้คือประโยชน์ที่เราจะพึงได้ในปัจจุบัน

 

 

          เมื่อจิตของเรามีสติสัมปชัญญะ เราไม่ประมาทไม่เผลอไปทำบาปทำกรรม บาปกรรมของเก่ามันมีอยู่เท่าไรก็ช่างมัน ของใหม่เราไม่ได้ทำเพิ่มขึ้น ในที่สุดจิตของเราก็ปราโมทย์บันเทิงในธรรม

 

 

 

 

ความจงรักภักดีต่อครูบาอาจารย์

เวลานั่งกับครูบาอาจารย์..นั่งสมาธิตลอดเวลา

          พระเณรสมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นยังอยู่ นี่ไม่มีใครเก่ง สู้สมัยนี้ไม่ได้ ไม่เก่งจริงๆ แม้แต่อยู่ในวัดเดียวกันนี่ ไม่สู้ใครไปนั่งรับแขกอยู่มุมโน้นมุมนี้..ไม่มี แล้วญาติโยมก็ดูเหมือนจะรู้ มาเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น พอคุณหญิงคุณนายมานั่งบ่อยแล้วลืมครูบาอาจารย์

 

          หลวงพ่อไปที่วัดพระศรีมหาธาตุ หลวงปู่เมตตาหลวงอาวุโสกว่าเพื่อน นั่งเรียงแถวกันมา ๗-๘ องค์ หลวงพ่อก็อยู่ในจำนวนนั้นองค์หนึ่ง องค์นี้ก็เทศน์ องค์นั้นก็เทศน์ เรานั่งอยู่เฉยๆ นี้ไม่ทราบว่าจะฟังเทศน์ใคร ถ้าสมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เป็นอย่างนี้ล่ะก็..โดน ในวัดหนึ่ง ๆ จะพูดได้เพียงองค์เดียว

 

          แล้วคำว่าขอมติคณะสงฆ์นี่จะไม่มี นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับพระวินัยที่จะทำอะไรไว้ เช่นอย่างอปโลกนกรรม พระภิกษุรับประเคนสังฆทานมา ต้องอปโลกน์ อะไรทำนองนี้ ที่นี้เสร็จแล้วท่านก็สวดญัตติเอาไว้แล้วประกาศสงฆ์ ใครไปที่ไหนๆ มีใครถวายสังฆทาน ให้สงฆ์อนุญาต ให้เป็นผู้มีสิทธิรับส่วนแบ่งจากสังฆทานนั้นเลยทีเดียว เผื่อว่าสังฆทานมันเหลือเฟือ ขนมาวัดไม่ไหว ก็ให้สละแจกจ่ายใครต่อใครไปได้

 

          พวกเราอยู่ในสำนักครูบาอาจารย์นี้ แม้แต่ท่านจะสั่งให้ทำสิ่งนั้นๆ กุฏิหลังนั้นมันจะพังอยู่ ลงมือซ่อม ต่างคนต่างทำ ไม่คำนึงถึงผู้หลักผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ผู้อาวุโสน่ะ พวกนั้นกรรมฐานเก๊ กรรมฐานจริง ๆ เขาไม่ละเมิดล่วงเกินแม้แต่นิดเดียว ถ้าจะว่ากระเบียดนิ้วหนึ่งมันมากไป แม้แต่มิลเดียว หรือครึ่งหนึ่ง คล้าย ๆ กับว่าเวลานั่งกับครูบาอาจารย์..นั่งสมาธิตลอดเวลา ลืมตาน้อยชำเลืองดูว่าท่านจะให้สัญญาณอะไรอยู่ตลอดเวลา

 

          พวกเราอยู่ด้วยกันนี่พวกเราไม่ได้ใช้ภาษาเสียง ใช้ภาษาใบ้ ถ้าหมู่ต้องการจะขอความช่วยเหลือกันล่ะก็ มองรอบ ๆ พอเห็นใครมองหน้ามาแล้ว ก็กวักมือเรียก ไม่มีการตะโกนกันโหวกเหวก

 

          ความแตกต่างของพระสมัยนี้กับพระสมัยก่อน หลวงพ่อให้ความเห็นว่า มันเทียบกันไม่ติดเลยก็แล้วกัน ความจงรักภักดีต่อครูบาอาจารย์ ความเอาใจใส่ในข้อวัตรปฏิบัติ พระสมัยนั้นมันไม่ได้ปากเปียกเหมือนทุกวันนี้หรอก อาจารย์ก็มีแต่ภาวนา อาจารย์สมัยก่อนภาวนา “พุทโธ ๆ” อาจารย์สมัยนี้ภาวนา “ชาตะรูปะระชะตัง ๆ..”  คิดหาแต่เงิน ชาตะรูปะระชะตัง ก็เงินทองน่ะซิ

 

 

 

อุบายตัดกรรมตัดเวร

การตัดเวรก็คือหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน

          การตัดกรรม ก็คือหยุดทำความชั่ว ความบาป การตัดเวรก็คือหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน คือไม่แก้แค้นซึ่งกันและกัน รู้จักคำว่า ให้อภัยซึ่งกันและกัน ผู้ทำผิดก็ให้รู้จักคำว่า ขอโทษ ผู้ถูกขอโทษก็ควรรู้จักคำว่า ให้อภัย ไม่เป็นไรหรอก อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร

 

          พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้ ได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรม ก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า กรรมใดใครก่อลงไปแล้ว ใจเป็นผู้จงใจคือเจตนาทำลงไป พอทำลงไปแล้วกรรมอันเป็นบาป ภายหลังเรามานึกว่า เราไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้ เพราะใจเป็นผู้สั่งให้กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไป ใจตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรม โดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การที่เราไปทำพิธีตัดกรรมนี่ หมายถึงตัดผลของบาป มันตัดไม่ได้ อย่าไปเข้าใจผิด

 

          ขอให้พุทธบริษัททั้งหลายจงปลูกฝังนิสัยให้เด็กของเราในข้อนี้ เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่สุด ถ้าเด็ก ๆ ของเรานี่ ไปเข้าใจว่าทำบาปทำกรรมแล้วไปทำพิธีล้างบาป ทำพิธีตัดกรรมแล้วมันหมดบาป ประเดี๋ยวเด็ก ๆ มันทำบาปแล้วไปหาหลวงพ่อ หลวงพี่ ตัดบาปตัดกรรมให้ มันก็ไม่เกิดความกลัวต่อบาป

 

          เพราะฉะนั้น อย่าไปเข้าใจผิดว่า ทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ตัดกรรมให้มันหมดไป มันเป็นไปไม่ได้

 

          แต่ตัดเวรนี่ มีทาง เวร หมายถึงการผูกพยาบาท คอยแก้แค้นกันอยู่ตลอดเวลา เช่นอย่างเราฆ่าเขาตาย บางทีนึกถึงบาปกรรม กลัวว่า เขาจะอาฆาตจองเวร เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา ถ้าหากว่าเขาได้รับส่วนกุศลจากเรา เขาได้รับความสุข เขาเลื่อนฐานะจากภาวะที่ทุกข์ทรมาน ไปสู่ฐานะที่มีความสุข เขานึกถึงคุณงามความดี นึกถึงบุญถึงคุณของเรา เขาก็อโหสิกรรมให้แก่เรา ไม่ตามล้างตามผลาญกันอีกต่อไป อันนี้ตัดเวร นี่ตัดได้

 

 

 

พรรษาที่ ๒๙ - ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๒๗)

พรรษาที่ ๔๕ - ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐)

พรรษาที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔)

จำพรรษา ที่

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติการสร้างวัดป่าสาลวัน

ดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

  

 

          เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ข้าพเจ้า (หลวงชาญนิคม “ทอง จันทรศร” ) พร้อมด้วยบุตรภรรยา ได้สร้างวัดให้เป็นสำนักสงฆ์วัดหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งเป็นพระพรหมมุนี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ให้นามว่า “วัดป่าสาลวัน” เพราะบริเวณสร้างวัดนี้โดยมากเป็นป่าเต็งรัง และที่อันนี้เป็นที่ดินส่วนของข้าพเจ้า พื้นดินเป็นทราย ภูมิฐานสูงกลาง ทิศเหนือติดทางเกวียน ทิศใต้จรดหนองรี ทิศตะวันออกจรดหนองแก้ช้าง ทิศตะวันตกจรดทางหลวง ด้านกว้าง ๗ เส้น ๑๐ วา ด้านยาว ๑๐ เส้น รวมเนื้อที่ ๗๕ ไร่ (ปัจจุบันมีเนื้อที่ ๔๓ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา มีกุฏิ ๘๔ หลัง) ราคา ๘๐๐ บาท ห่างหมู่บ้านประมาณ ๓๐ - ๔๐ เส้น ห่างสถานีรถไฟโคราช ๓๐ เส้น

 

 

          มูลเหตุที่สร้างวัดนี้เป็นความดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ในครั้งเป็นพระพรหมมุนี (ติสฺสเถระ) แสวงหาที่ดินที่จะสร้างเป็นวัดอรัญญวาสี สำหรับพระฝ่ายวิปัสสนาธุระอยู่อาศัยเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนาธุระมิให้เสื่อม ท่านพยายามหาที่มาหลายปีแล้วไม่มีที่ใดเหมาะ ครั้นมาพ.ศ.นี้ ท่านได้ไปอาราธนาท่านพระอาจารย์สิงห์ และพระมหาปิ่น และพระอื่น ๆ อีก รวม ๖ - ๗ รูป ล้วนเป็นพระวิปัสสนาทั้งสิ้นมาจากขอนแก่น

 

          ท่านพระอาจารย์สิงห์มาถึงโคราชแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งเป็นพระพรหมมุนี ได้นำไปปักกลดโปรดสัตว์ที่ป่าช้าที่ ๓ ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกที่ดินของข้าพเจ้า คนละฟากทางหลวง ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ไปร่วมอยู่ในป่าช้านั้นด้วย มีคนเลื่อมใสศรัทธาไปทำบุญกันมาก

 

 

          ข้าพเจ้าและบุตรภรรยา ได้ช่วยปัดกวาดสถานที่สำหรับพระอยู่อาศัยด้วยและหมั่นไปเสมอแทบทุกวัน ข้าพเจ้าได้ทราบความประสงค์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่จะหาที่สร้างวัด ก็บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสขึ้นในขณะนั้น และข้าพเจ้าก็มีอุปนิสัยชอบไปในทางวิปัสสนาธุระอยู่ด้วย จึงปรึกษาบุตรและภรรยา ต่างก็มีความร่วมใจกันในอันที่จะถวายที่ดินสร้างวัด จึงนำความกราบเรียนท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบุตรภรรยามีใจเลื่อมใสศรัทธาที่จะถวายที่ดินของข้าพเจ้า แล้วจะก่อสร้างให้เป็นสำนักสงฆ์ตามความประสงค์ของท่าน

 

 

          ครั้นแล้วข้าพเจ้าก็นำท่านและพระอาจารย์สิงห์พร้อมด้วยสงฆ์ตรวจดูที่ดินของข้าพเจ้า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ และสงฆ์ตรวจดูแล้วว่าที่ดินนี้ถูกต้องเหมาะแก่การสร้างวัดอรัญญวาสี เพราะไม่ไกลไม่ใกล้หมู่บ้าน ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็เป็นอันตกลง

 

 

          พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปาโมกข์ ได้เห็นเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ป่วยหนัก บังเกิดมีความสลดสังเวชใจ เห็นภัย ในวัฏฏสงสาร ใคร่แสวงหาที่พึ่ง จึงได้อนุมัติให้ตั้งสำนักสงฆ์วัดป่าสาลวันขึ้น หลวงชาญนิคม กับพวกจึงรับบัญชา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สร้างวัดป่าสาลวันขึ้นเป็นวัดแรก พอให้เป็นตัวอย่าง เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็ได้ออกมาบำเพ็ญภาวนาเป็นครั้งคราวในเวลาว่างจากการคณะสงฆ์

 

          ท่านเจ้าคุณพระญาณวิศิษฏ์ ได้อยู่จำพรรษาในวัดแห่งนี้ในระยะแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๗๙ รวมเวลา ๕ ปี

 

          ส่วนการสร้างโบสถ์น้ำ (สิมน้ำ) พลตรีหลวงโจมจตุรงค์ ปลัดสุขาฯ มีศรัทธาพร้อมด้วยนายเกลี้ยง สมุห์บัญชี และนายมณี รับทำ ใช้รากคอนกรีต ต่อเสาไม้เต็งรัง พื้นฝา เครื่องบนใช้ไม้จริง หลังคามุงสังกะสี กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๖ ศอก ราคา ๖๐๐ บาท

 

 

วัดป่าสาลวันในสมัยปัจจุบัน

          จากสภาพเดิมของวัดป่าสาลวันที่เป็นป่าไม้เต็งรัง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓๐-๔๐ เส้น เวลาผ่านไป ๘๐ ปี สภาพป่ารอบ ๆ บริเวณวัดได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นบ้านเรือน ถนนหนทาง ตรอกซอยเต็มไปโดยรอบด้าน วัดจึงกลายสภาพจากป่าช้าที่รกชัฏเป็นวัดตั้งอยู่ใจกลางเมือง เพราะความเจริญของบ้านเรือนและประชากรต้องการที่อยู่มากขึ้น

 

          หลวงพ่อรับเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีศิษยานุศิษย์ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันถวายการสร้างสังฆาวาสและสาธารณูปการต่าง ๆ ขึ้นใหม่ในวัดเป็นจำนวนมาก เช่น สร้างประปาภายในวัด สร้างกำแพงล้อมรอบวัด สร้างศาลาโรงครัว ๒ ชั้น สร้างห้องสุขา ตัดถนนติดต่อกันภายในวัด เทคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างหอระฆังใหม่ สร้างกุฏิสงฆ์และกุฏิแม่ชี สร้างกุฏิเจ้าอาวาส สำนักงาน กุฏิรับรอง ปรับปรุงศาลาบูรพาจารย์ชั้นล่างให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ตั้งศูนย์สมาธิภาวนา และสร้างวิหารหลังใหญ่ขึ้น

 

          วิหารหลังใหม่นี้มีลักษณะเป็นอาคารเทคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๖ วา ยาว ๔๐ วา วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๐.๑๙ น. และได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นวันเกิดของหลวงพ่อ

 

       เพราะฉะนั้นคณะศิษยานุศิษย์ได้ทำพิธีฉลองวิหารใหม่และฉลองสมณศักดิ์ (พระราชสังวรญาณ) พร้อมทั้งวันเกิดในวันเดียวกันคือวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖

 

 

ลำดับเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน

๑. พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)

๑. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

๓. พระสุธรรมคณาจารย์ (แดง ธมฺมรกฺขิโต)

๔. พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

๕. พระมงคลวัฒนคุณ (หลวงพ่อเพิ่ม)

 

  


จากศรีสะเกษสู่นครราชสีมา

          หลวงพ่อลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน เพื่อนฝูงมันด่าตามหลัง สมน้ำหน้ามัน เขาไล่มันออกจากเจ้าคณะจังหวัด

          ภายหลังต่อมา มาเห็นผลงานที่วัดป่าสาลวัน

          “ใครอย่าไปเอาตัวอย่างเจ้าคุณชินฯ เด้อ”

 

          “เจ้าคุณชินฯ ไม่ดียังไงถึงไม่ให้เอาตัวอย่าง”

 

          “ก็มันดีเกินไป ใครเอาตัวอย่างมัน เดี๋ยวมันล้มทับส้นตาย ดูซิ วัดมันอยู่ ๒-๓ วัน อะไร ๆ ก็สร้างขึ้นยังกับดอกเห็ด”

 

          นี้แหละโบราณท่านว่า...

 

          “ไม้ล้มจะข้ามได้            ดังหมาย

          คนล้มจะข้ามปลาย        ห่อนได้”

 

 

 

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) ตามกลับวัดป่าสาลวัน

          ปลายปี ๒๕๑๒ ย่างเข้าปี พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงพ่อมาอยู่ที่วัดป่าสาลวันเป็นปีแรก ตอนนั้นโรงเรียนพระสังฆาธิการยังอยู่ บังเอิญโรคกระเพาะลำไส้มันก็กลับมากำเริบอีก ก็เลยกลับไปรักษาตัวที่อุบลฯ

 

          ไปรักษาตัวอยู่ได้ประมาณ ๔ เดือน พระที่พาไปด้วยคือพระ...กับพระ... พอไปถึงพระ ๒ องค์นี้ก็ถามว่า

 

          “หลวงพ่ออยู่องค์เดียวได้ไหม ถ้าอยู่ได้ พวกกระผมจะไปเที่ยว”

 

          เสร็จแล้วเราก็บอกว่า “ได้”  ทั้ง ๆ ที่ใจมันไม่อยากให้เขาจากไป

 

          พอหลังจากนั้นมา...เพื่อนสหธรรมมิกเรานี่พึ่งเป็นพึ่งตายไม่ได้ ทีแรกตั้งใจไว้ว่าจะไม่กลับมาโคราชอีก พอดีทางโคราชเขาโทรเลขไปตาม ลงชื่อ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ไอ้เราก็เลยมาคิดว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านอุตส่าห์โทรเลขมาตาม เราจะไปฝ่าฝืนก็ไม่ได้ ไม่เหมาะสมก็เลยกลับมาอยู่ที่โคราชต่อ

 

          พอกลับมาแล้วหลังจากนั้น จิตมันก็คิดว่า คนเรานี่ คนยากคนจน คนมั่งคนมีเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เวลาจะตายมันหามกันเข้าโรงพยาบาลกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะลองสร้างความดีกับโรงพยาบาล เอาไว้เป็นที่พึง หลังจากนั้นมาก็ขวนขวายเก็บหอมรอมริบ พอจะซื้ออะไรให้เขาได้ก็ซื้อ จนกระทั่งสามารถหาเงินเป็นล้านซื้อเครื่องมือให้เขา แล้วที่นี้ผลสนองตอบมันก็คุ้มค่า จนกระทั่งเวลาเจ็บป่วย มีคนเขาถามว่า ไปหาหมอแล้วหรือยัง ไม่ได้ไปหา มีแต่หมอมาหา เช่นอย่างรถไปเกิดอุบัติเหตุปากแตกมานี้ ทั้ง ๆ ไม่ได้เชื้อได้เชิญ เขาก็มารุมกัน ช่วยกันพยาบาลดูแลรักษา เฝ้าเช้าเฝ้าเย็น

 

          การให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลมี ๒ ลักษณะ คือ จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้ กับตั้งมูลนิธิให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลที่เคยให้ความช่วยเหลือ เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น อนามัยวะภูแก้ว อนามัยโนนไทย โรงพยาบาลลำปลายมาศ โรงพยาบาลกระสัง โรงพยาบาลน้ำหนาว โรงพยาบาลสูงเนิน ฯลฯ

 

 

วิถีจิตของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

โอ๊ย หลวงปู่บอกว่าเอาไปมากมันบาป มันบาปจริง ๆ

          ถ้าไม่มีงานฉลองอะไร ท่านก็ไม่จัดงานเลย ความมหัศจรรย์ของหลวงปู่สิงห์ เช่นงานฉลองโบสถ์ ตอนที่ท่านหล่อพระพุทธรูป ๒ องค์ ชาวบ้านเขาเอาสตางค์แดงมา ท่านทำหีบไม้ โตขนาดนี้ เดี๋ยวนี้ยังมีเหลืออยู่ เอาสตางค์แดงใส่เต็ม เอาเทินกันไว้

 

          ที่นี้พวกผู้ร้ายมันก็มา มาก็มาบอกว่า "หลวงปู่ขอเงินไปใช้หน่อย" ท่านก็บอกว่า

 

          “เงินไม่มี มีแต่สตางค์แดง” สตางค์แดงตอนนั้นมันใช้ได้

 

          “สตางค์แดงก็เอา”

 

          ท่านก็บอกว่า “อยู่นั่น อยากได้ก็เอาไป แต่ว่าเอามากไม่ได้นะ เอามากบาป”

 

           เมื่อก่อนประตูวัดมันอยู่ทางนี้ มันก็แบกออกไป พอดีทหารอากาศมาเจอเข้า

 

          “เอ้า ! พวกนี้สงสัยมันจะไปขูดเอาเงินหลวงปู่มาล่ะว่ะ”

 

          ทีนี้พอเขาสังเกตเห็นมันหลบ ๆ ซ่อน ๆ เขาก็ร้อง ทหารอากาศก็มาหลายคน พอเสร็จแล้วเขาก็รุมซ้อมเอา แล้วบังคับให้มันแบกหีบเงินคืนไป พอไปวางลงมันบอกว่า

 

          “โอ๊ย! หลวงปู่บอกว่าเอาไปมากมันบาป มันบาปจริง ๆ”

 

 

 

ชาวโคราชถามปัญหาหลวงปู่มั่น (๒๔๘๓)

อาตมาไม่หิว อาตมาไม่หลง จึงไม่หาอะไรให้ยุ่งไป

ชาวโคราช    เท่าที่ท่านอาจารย์มาโคราชคราวนี้ เป็นการมาเพื่ออนุเคราะห์ประชาชนตามคำนิมนต์เพียงอย่างเดียว หรือยังมีหวังเพื่อมรรคผลนิพพานอยู่ด้วยในการมารับนิมนต์คราวนี้


 
หลวงปู่มั่น   อาตมาไม่หิว อาตมาไม่หลง จึงไม่หาอะไรให้ยุ่งไป อันเป็นการก่อทุกข์ใส่ตัว คนหิวอยู่ เป็นปกติสุขไม่ได้ จึงวิ่งหาโน่นหานี้ เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่คำนึงว่าผิดหรือถูก ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็มาเผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ อาตมาไม่หลงจึงไม่แสวงหาอะไร


 
                      คนที่หลงจึงต้องแสวงหา ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา จะหาไปให้ลำบากทำไม อะไร ๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว จะตื่นเงาและตะครุบเงาไปทำไม เพราะรู้แล้วว่าเงาไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงคือสัจจะทั้ง ๔ ก็มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว และรู้จนหมดสิ้นแล้ว จะหาอะไรกันอีก ถ้าไม่หลง ชีวิตลมหายใจยังมีและผู้มุ่งประโยชน์กับเรายังมี ก็สงเคราะห์กันไปอย่างนั้นเอง


 


                     คนหาคนดีมีศีลธรรมในใจนั้น หายากยิ่งกว่าหาเพชรนิลจินดาเป็นไหน ก็ได้คนดีเพียงคนเดียว ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้าน ๆ เพราะเงินเป็นล้าน ๆ ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ เหมือนได้คนดีมาทำประโยชน์ คนดีแม้เพียงคนเดียวยังสามารถทำความเย็นใจให้แก่โลกได้มากมายและยังยืน เช่น พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย เป็นตัวอย่าง


                  คนดีแต่ละคนมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นก่ายกอง และเห็นคุณค่าแห่งความดีของตนที่จะทำต่อไปมากกว่าเงิน แม้จะจนก็ยอมจน ขอแต่ให้ตัวดีและโลกมีความสุข
 

 

                 แต่คนโง่ชอบเงินมากกว่าคนดีและความดี ขอแต่ได้เงิน แม้ตัวจะเป็นอย่างไรไม่สนใจคิดถึง จะชั่วช้าลามกหรือแสนโสมมเพียงไรก็ตาม ขนาดนายยมบาลเกลียดกลัวไม่อยากนับเข้าบัญชีผู้ต้องหา กลัวจะไปทำลายสัตว์นรกด้วยกันให้เดือดร้อน ฉิบหายก็ไม่ว่า ขอแต่ได้เงินก็เป็นที่พอใจ ส่วนจะผิดถูกประการใด ถ้าบาปมีค่อยคิดบัญชีกันเองโดยเขาไม่ยุ่งเกี่ยว
 

  

                  คนดีกับคนชั่ว และสมบัติเงินทองกับธรรม คือคุณงามความดี ผิดกันอย่างนี้แล ใครมีหูมีตาก็รีบคิดเสียแต่บัดนี้ อย่าทำให้สายเกินไป จะหมดหนทางเลือกเฟ้น การให้ผลก็ต่างกัน สุดแต่กรรมของตนจะอำนวย จะทักท้วงหรือคัดค้านไม่ได้ กรรมอำนวยให้อย่างใด ต้องยอมรับเอาอย่างนั้น

  


 
                    ฉะนั้นสัตว์โลกจึงต่างกัน ทั้งภพกำเนิด รูปร่าง ลักษณะ จริต นิสัย สุข ทุกข์ อันเป็นสมบัติประจำตัวของแต่ละราย แบ่งหนักแบ่งเบากันไม่ได้ ใครมีอย่างไรก็หอบหิ้วไปเอง ดีชั่ว สุขทุกข์ก็ยอมรับ ไม่มีอำนาจปฏิเสธได้ เพราะไม่ใช่แง่กฎหมาย แต่เป็นกฎของกรรม หรือกฎของตัวเองที่ทำขึ้น มิใช่กฎของใครไปทำให้ ตัวทำเอาเอง ถามอาตมาเพื่ออะไรอย่างนั้น


 
ชาวโคราช
        ขอประทานโทษ พวกกระผมเคยได้ยินกิติศัพท์กิตติคุณท่านอาจารย์โด่งดังมานานแล้ว ไม่ว่าครูอาจารย์หรือพระเณรองค์ใดตลอดฆราวาส ใครพูดถึงอาจารย์ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์มิใช่พระธรรมดาดังนั้นจึงกระหายอยากฟังเมตตาธรรมท่าน แล้วได้เรียนถามไปตามความอยากความหิว แต่ไม่มีความฉลาดรอบคอบในการถาม ซึ่งอาจจะทำความกระเทือนแก่ท่านอยู่บ้าง กระผมก็สนใจปฏิบัติมานานพอสมควร จิตใจนับว่าได้รับความร่มเย็นประจักษ์เรื่อยมา ไม่เสียชาติที่เกิดมาพบพระศาสนาและยังได้กราบไหว้ครูอาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์วิเศษด้วยการปฏิบัติและคุณธรรม แม้ปัญหาธรรมที่เรียนถามวันนี้ก็ได้รับความแจ้งชัดเกินคาดหมาย วันนี้เป็นหายสงสัยเด็ดขาดตามภูมิของคนมีกิเลส ที่ยังอยู่ก็ตัวเองเท่านั้นจะสามารถปฏิบัติให้ได้ถึงมากน้อยเพียงใด

  


 
หลวงปู่มั่น      โยมถามมาอย่างนั้นอาตมาก็ต้องตอบไปอย่างนั้น เพราะอาตมาไม่หิวไม่หลงจะให้อาตมาไปหาอะไรอีก อาตมาเคยหิวเคยหลงมาพอแล้ว ครั้งปฏิบัติที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรโน้น อาตมาแทบตายอยู่ในป่าในเขา คนเดียวไม่มีใครไปเห็น จนพอลืมหูลืมตาได้บ้าง จึงมีคนนั้นไปหาคนนี้ไปหา แล้วร่ำลือกันว่าวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะอาตมาสลบสามหนรอดตายครั้งนั้น ไม่เห็นใครทราบและร่ำลือบ้าง จนเลยขั้นสลบและขั้นตายมาแล้ว จึงมาเล่าลือกันหาประโยชน์อะไร


 
                      อยากได้ของดีที่มีอยู่กับตัวเรา ทุกคนก็พากันปฏิบัติเอา ทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงพากันวุ่นวาย หานิมนต์พระมาให้บุญ กุสลามาติกา นั่นไม่ใช่เกาถูกที่คันนะ จะว่าไม่บอก ต้องรีบเกาให้ถูกที่คันเสียบัดนี้ โรคคันจะได้หาย คือเร่งทำความดีเสียแต่บัดนี้จะได้หายห่วงหายหวงกับอะไร ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา แต่พากันจับจองเอาแต่ชื่อของมันเปล่า ๆ ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล


 


                      สมบัติในโลก เราแสวงหามาเป็นความสุขแก่ตัวก็พอหาได้ จะแสวงหามาเป็นไฟเผาตัวก็ทำให้ฉิบหายได้จริง ๆ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา จะเข้าใจว่าท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทองเครื่องหวงแหนอย่างนั้นหรือ เข้าใจว่าเป็นคนร่ำรวยสวยงามเฉพาะสมัยพวกเราเท่านั้นหรือ จึงพากันรักพากันหวงพากันห่วงจนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย บ้านเมืองเราสมัยนี้ไม่มีป่าช้าสำหรับฝังหรือเผาคนตายอย่างนั้นหรือ จึงสำคัญว่าตนจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมเนื้อลืมตัว กลัวแต่จะไม่ได้กินได้นอน กลัวแต่จะไม่ได้เพลิดได้เพลิน ประหนึ่งโลกจะดับสูญจากไปในเดี๋ยวนี้ จึงพากันรีบตักตวงเอาแต่ความไม่เป็นท่าใส่ตนแบบหาบไม่ไหว อันสิ่งเหล่านี้แม้แต่สัตว์เขาก็มิได้เหมือนมนุษย์เรา อย่าสำคัญตนว่าเก่งกาจสามารถฉลาดผู้ยิ่งกว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอก อาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ใครจะไปทราบได้ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ซึ่งอยู่ในฐานะที่ควร
 

 

                      อาตมาต้องขออภัยด้วย ถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนให้คนละชั่วทำดียังจัดเป็นคำหยาบคายอยู่แล้ว โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคาย มีมาประจำตนแทบทุกคน ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้และตำหนิมันบ้างพอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนว่าหยาบคายนับว่าเป็นโลกที่หมดหวัง
 

(ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต โดยพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมปนฺโน)

 

หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป



 

แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 05:05 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack