A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 92 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • https://www.gcashlive.com
  • %% my homepage buy Full spectrum cbd oil uk: https...
  • Cool gay tube: https://mokujipedia.net/view/%E5%88...
  • Cool gay tube: http://wiki.nexus.io/index.php?titl...
  • finasteride celexa! finasteride photosensitivit y ...
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 15 PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันพฤหัสบดีที่ 08 มีนาคม 2012 เวลา 08:06 น.
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๑๕

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 

ปาฏิหาริย์

ก่อนที่มันจะเกิดเหตุนี่ มันมีวัตถุสิ่งหนึ่งโตขนาดปี๊บ ยาว ๑ เมตร

          ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนมา (๒๕๓๘) มันประสบกับสิ่งปาฏิหาริย์หลายอย่าง ปาฏิหาริย์ที่เราคาดไม่ถึง

 

          ไปอินเดียเดือนพฤศจิกายน วันที่ ๒๕ ขึ้นเครื่องบินจากกัลกัตตาจะกลับกรุงเทพฯ เครื่องบินเกิดติดขัด บินต่อไม่ได้ ก่อนที่มันจะเกิดเหตุนี่ มันมีวัตถุสิ่งหนึ่งโตขนาดปี๊บ ยาว ๑ เมตร ออกรัศมีรอบตัว มอง ๆ ดูแล้วเหมือนตัวบุ้งขน สีแดงวิ่งชู้ด..เข้ามาใต้ที่นั่งของหลวงพ่อ ประมาณ ๑ นาที เขาประกาศว่า เครื่องบินขัดข้องบินต่อไปอีกไม่ได้ งดเสิร์ฟอาหาร เขากำลังจะเสิร์ฟอาหาร พวกเจ้าหน้าที่เครื่องบินก็เตรียมรัดเข็มขัดของใครของเรา รูดม่าน พวกคนโดยสารก็มองกันเลิ่กลั่ก ๆ ๆ

 

          หลวงพ่อก็ยกมือขึ้นเป็นสัญญาณให้พวกชาวพุทธเรารู้ตัวว่า ให้เริ่มตั้งใจอธิษฐานจิตสวดมนต์ภาวนา พวกเราซึ่งเป็นชาวพุทธก็เงียบ ฝรั่งก็เงียบเหมือนกัน เครื่องบินมันก็ลดเพดานบินลงมา ไอ้ตอนที่เห็นนั่นถ้าหากว่าเราพอมองเห็นพื้นดิน เราก็จะนึกว่าตาเราลายไป อันนี้มันอยู่เหนือเมฆ มองลงมามีแต่ขี้เมฆ.. ที่อยู่ในย่ามก็มีพระสมเด็จองค์หนึ่งกับพระกริ่งองค์หนึ่ง แล้วก็มีเหล็กไหลเม็ดเล็ก ๆ

 

 

สายตรงของการภาวนา

          สมาธิแบบพระพุทธเจ้าการกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ

          สอนสมาธิต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวด ๆ กันนี่อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รูปกายของเรา รู้ว่าธรรมชาติของกายอย่างหยาบ ๆ มันต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้คือความจริงของกาย

 

          ปัญหาสำคัญของการฝึกสมาธินี่ บางทีเราอาจจะเข้าใจไขว้เขวไปจากหลักความจริง

                    สมาธิอย่างหนึ่ง     เราฝึกเพื่อให้จิตสงบนิ่ง

                    สมาธิอย่างหนึ่ง     เราฝึกเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะรู้ทันเหตุการณ์นั้น ๆ ในขณะปัจจุบัน

                   สมาธิบางอย่าง      เราปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้เห็นภายในจิต เช่น รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ รู้เรื่อง อดีต อนาคต รู้อดีต หมายถึงรู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร รู้อนาคต หมายถึงว่าเมื่อเราตายไปแล้วเราจะไปเป็นอะไร อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้

 

          ที่นี้เมื่อเรามาพิจารณากันจริง ๆ อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้นเรามาสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม

 

          ที่ครูบาอาจารย์สอนว่าทำกรรมฐานไปเห็นโน่นเห็นนี่ นี่มันใช้ไม่ได้ ให้มันเห็นใจเราเองซิ อย่าไปเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรก ต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไร สิ่งที่เราเห็นในสมาธิมันไม่ผิดกันกับที่เรานอนหลับแล้วฝันไป แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ต้องเห็นนี่ คือเห็นกายของเรา เห็นใจของเรา

 

 

ป่วยเป็นเบาหวาน

มันเกิดอาการหวิว เหมือนมันจะช็อก เข้าที่นั่งสมาธิทันที

          ใช้เวลาเป็นหลาย ๆ ปีกว่าจะหาย ยาเป็นเครื่องช่วยนิดหน่อย แต่เรื่องสมาธิเป็นเรื่องสำคัญ ไปเป็นโรคเบาหวานกำเริบอยู่ที่กุฏิหลวงตาเบญ วัดสระปทุม อากาศก็ร้อน มันเกิดอาการหวิว เหมือนมันจะช็อก เข้าที่นั่งสมาธิทันที ตอนนั้นมันไปอยู่อย่างนั้น ไอ้หมอที่เราสนิทคุ้นเคยมันก็ไม่มี มันไม่มีที่พึ่ง มันเลยต้องพึ่งตัวเอง พอนั่งสมาธิมันเงียบได้สักครู่หนึ่ง พอตื่นขึ้นมา รู้สึกว่าตัวเรานี้มันเบาสบายหมดทุกอย่าง เหงื่อที่มันไหลอย่างกับอาบน้ำมันก็หายไป แต่เมื่อมันแห้งไปแล้ว มันก็กลายเป็นสะเก็ดขาว ๆ เต็มไปหมด เอามือลูบอย่างนี้สะเก็ดน้ำตาลมันออกมาเต็มมือเลย รีบโทรศัพท์ไปบอกเขา เขาก็บอกว่า ตายแล้วหลวงพ่อเป็นเบาหวานแล้ว เขาก็โทรไปหาหมอ ตื่นเช้ามา เขาก็รีบส่งคนมาตรวจเลือด ผลปรากฏว่า น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงถึง ๔๓๐ เขาก็ถามว่าคนไข้ช็อกหรือยัง วันนั้นหลวงพ่อก็ยังไปเทศน์ที่โรงพยาบาลสงฆ์

          พอวัณโรคหาย มาเป็นโรคกระเพาะลำไส้หลายปีเหมือนกัน มาว่างเว้นอยู่ที่ไม่เป็นโรคอะไรตั้งแต่อายุ ๕๐-๖๕ ปี ตอนนี้สบายมากๆ พอเลย ๖๕ มาเป็นโรคเบาหวาน เดี๋ยวนี้ยังต่อสู้กับโรคเบาหวาน ก็ได้แต่ปลงอนิจจัง เวรเรากรรมเรามี เราได้ไปทรมานคนอื่น ทรมานสัตว์ เราจึงเป็นโรคเป็นภัย ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเรามีกรรม

 

 

แสดงธรรมที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย

วิถีจิตสู่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

แสดงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๘

          ณ สถานที่แห่งนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ภายหลังจากที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาทุกแบบทุกรูป และได้ไปศึกษาในสำนักอาจารย์ต่าง ๆ สำนักอาจารย์ใด ฤๅษีตนใดที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเก่งที่สุดในสมัยนั้น พระองค์ทรงไปศึกษาหมดทุกแห่ง จนจบหลักสูตรของคณาจารย์นั้น ๆ ซึ่งคณาจารย์สมัยนั้นนิยมการบำเพ็ญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ได้อภิญญา คือบำเพ็ญสมาธิแบบฌานสมาบัติ มุ่งให้จิตสงบ นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ภายในจิตเพียงอย่างเดียว แล้วจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก็เพื่อสร้างชื่อเสียง เป็นอันว่าคณาจารย์หรือนักปฏิบัติในสมัยนั้น ยังถูกโลกธรรม หรือเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะ เพราะยังติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การปฏิบัติก็มุ่งที่จะสร้างบารมีให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่นิยมนับถือของปวงชนในยุคสมัยนั้น จึงอยู่ในลักษณะการปฏิบัติเพื่อแลวงหาลาภ ผล แสวงหาบริวาร ไม่ได้มุ่งเพื่อความหลุดพ้นโดยตรง

          แต่จะด้วยประการใดก็ตาม การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นก็เป็นการสร้างบารมี เพราะความเข้าใจของ

 

          คนในยุคนั้น ความสำเร็จที่เขาพึงประสงค์อยู่ตรงที่ว่า ในเมื่อปฏิบัติเคร่งครัด บำเพ็ญตบะแก่กล้า พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระเจ้าที่เขานับถือจะประทานพรให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งสุดแท้แต่เขาจะตั้งปณิธานความปรารถนาไว้อย่างไร ก็เป็นอันว่าการปฏิบัติก็เพื่อมุ่งลาภ ผล ชื่อเสียง ให้เป็นที่ระทับใจของคนในยุคนั้นสมัยนั้น การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสร้างกิเลส เขาเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะ

 

          แต่เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงศึกษาในสำนักของคณาจารย์นั้น ๆ เข้าไปศึกษาในสำนักอาจารย์ใด อาจารย์นั้นก็หมดภูมิ คือหมดภูมิที่จะสอนพระองค์อีกต่อไป เช่นอย่างไปศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็สอนพระองค์ได้เพียงฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เท่านั้น เมื่อถึงฌานขั้นนี้แล้ว อาจารย์ทั้งสองก็บอกว่าหมดภูมิแล้ว ไม่มีอะไรจะสอนท่านอีกต่อไป ขอให้ท่านอยู่ในสำนักเพื่อช่วยสั่งสอนประชาชนอบรมศิษยานุศิษย์ต่อไปเถิด

 

          เมื่อพระองค์ท่านได้พิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว คือพระองค์สังเกตอย่างนี้ ในขณะที่จิตของพระองค์อยู่ในสมาธิ ฌานขั้นที่ ๔ ร่างกายตัวตนหายไปหมด มีแต่จิตดวงเดียว นิ่ง สว่าง ลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางแห่งความว่าง แต่จิตอาศัยความสว่างเป็นอารมณ์ ความรู้สึกยินดีไม่มี ความรู้สึกยินร้ายไม่มี

          คณาจารย์เหล่านั้นจึงถือว่าเขาหมดกิเลสแล้ว แต่เมื่อพระพุทธองค์ได้ไปศึกษาจนจบหลักสูตรของอาจารย์ดังกล่าว ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ มองหากิเลสตัวใดไม่มี เป็นจิตบริสุทธิ์สะอาดแท้จริง แต่ยังไม่เป็นอมตะ

 

          เพราะว่าเมื่อออกจากสมาธิมาแล้ว เมื่อตา หู จมูก สิ้น กาย และใจ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ความยินดียินร้ายมันยังมีปรากฏอยู่ในจิต พระองค์จึงพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามันยังไม่ถึงที่สุด ถ้าหากว่าเราหมดกิเลสอย่างแท้จริง อยู่ในสมาธิเป็นอย่างไร กิเลสไม่มี เมื่อออกจากสมาธิแล้ว กิเลสก็ต้องหมดไป สิ่งที่ล่อแลดงให้พระองค์รู้ว่าพระองค์ยังมีกิเลสอยู่ก็คือ พระองค์ยังมีความยินดียินร้ายพอใจไม่พอใจ แล้วก็ยังยึดมั่นอยู่ในสังขารร่างกายว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยอย่างแน่วแน่ว่ายังทรงไม่สำเร็จ

          ภายหลังจากที่พระองค์ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ ของโสตถิยพราหมณ์ กุสะแปลว่าหญ้าคา คาแปลว่า ข้อง ติด มาตอนนี้พระองค์ทรงเอาหญ้าคา ๘ กำ มาขดเป็นบัลลังก์ประทับนั่ง มุ่งหน้าประพฤติปฏิบัติโดยไม่มุ่งผลประโยชน์อันใดในด้านวัตถุธรรม มุ่งแต่เพียงจะดำเนินไปสู่การตรัสรู้ คือความหมดกิเลส สู่ความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น จึงได้ชื่อว่าเอาโลกธรรม ๘ มารองนั่ง แทนที่จะเอาเทิดไว้บนศีรษะดังก่อน คราวนี้เอาโลกธรรมมารองนั่ง

          พระองค์ประทับนั่งอย่างไร เราเคยเห็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอย่างไร พระองค์ก็ประทับนั่งอย่างนั้น อันนี้ไม่ต้องอธิบาย ที่นี้เมื่อพระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิเป็นที่เรียบร้อย พระองค์ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น คือกำหนดรู้ที่จิตของพระองค์เพียงถ่ายเดียว ไม่ได้สนใจกับสิ่งใด ๆ แต่ในช่วงขณะจิตนั้นเอง พอพระองค์มาวิตกว่าเราจะเริ่มกันที่จุดไหน อตีตารมณ์คืออารมณ์ในอดีตได้ผุดขึ้นมาในพระทัยของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงระลึกถึงเมื่อสมัยยังเป็นพระกุมาร พระบิดาทำพิธีแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมผูกพระอู่ให้บรรทมอยู่ใต้ต้นหว้า ในช่วงที่พี่เลี้ยงนางนมหรือคนทั้งหลายเขาเพลิดเพลินในการดูมหรสพ ดูพิธีแรกนาขวัญ พระองค์ถูกปล่อยให้บรรทมในพระอู่ใต้ต้นหว้าแต่เดียวดาย

 

          ณ โอกาสที่ว่างจากการคลุกคลีจากผู้คนนั้นเอง พระองค์ผู้เป็นพระกุมารน้อย ๆ ทรงวิตกถึงลมหายใจ กำหนดรู้ลมหายใจเป็นอารมณ์ นับว่าพระองค์ได้สำเร็จปฐมฌานตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อพระองค์มารำลึกถึงที่ตรงนี้ พระองค์ก็ได้ความรู้ตัวขึ้นมาว่า จุดเริ่มของการปฏิบัติอยู่ที่ตรงนี้ คือเรากำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์ เพื่อกำหนดให้รู้ความเป็นจริงของร่างกาย แล้วพระองค์ก็มีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก

 

          วิธีการของพระองค์นั้น เพียงแต่มีพระสติกำหนดรู้อยู่เท่านั้น แต่เพราะอาศัยที่กายกับจิตของพระองค์ยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ เมื่อจิตอยู่ว่าง ๆ สิ่งที่จะปรากฏเด่นชัดก็คือลมหายใจ เพราะอาศัยที่พระองค์เคยบรรลุปฐมฌานมาแล้ว จิตของพระองค์จึงจับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แต่พระองค์เพียงมีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจ ไม่ได้บังคับลมหายใจ ไม่ได้บังคับจิตให้สงบ ปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่พระองค์กำหนดเอาพระสติอย่างเดียวรู้ที่จิต บางครั้งลมหายใจปรากฏว่าหยาบ คือหายใจแรงขึ้น พระองค์ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติในบางครั้งลมหายใจค่อย ๆ ละเอียดขึ้น ๆ คล้าย ๆ กับจะหยุดหายใจ พระองค์กลัวว่ามันจะเลยเถิด

 

          เมื่อกระตุ้นเตือนจิตให้มีความหยาบขึ้น ลมหายใจก็เห็นชัดขึ้น เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจอย่างไม่ลดละแล้วพระองค์ไม่ได้นึกว่า ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด เพียงแต่กำหนดรู้เฉยอยู่เท่านั้นปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของจิต เมื่อหนัก ๆ เข้า จิตยึดลมหายใจอย่างเหนียวแน่น ในบางครั้งพระองค์จะมองเห็นลมหายใจวิ่งออกวิ่งเข้าเป็นท่อยาว สว่างเหมือนหลอดไฟนีออน หนัก ๆ เข้าพอจิตสงบละเอียดไปในระหว่างอุปจารสมาธิ จิตของพระองค์วิ่งเข้าไปสว่าง นิ่งอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ไปรวมตัวอยู่ในทามกลางระหว่างทรวงอก ความสว่างไสวแผ่ซ่านออกมาทั่วร่างกาย พระองค์มีความรู้สึกประหนึ่งว่าความสว่างได้ครอบคลุมพระกายของพระองค์อยู่ ในช่วงนั้น พระองค์เกิดความรู้ความเห็น เห็นอาการ ๓๒ ที่เรายึดมาเป็นบทสวดมนต์ในปัจจุบันนี้

อะยัง โข เม กาโย                            กายของเรานี้แล

อุทธัง ปาทะตะลา                           เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา

อะโธ เกสะมัตถะกา                        เรื่องต่ำแต่ปลายผมลงไป

ตะจะปะริยันโต                               มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ

ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน       เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ

อัตถิ อิมัสมิง กาเย                           มีอยู่ในกายนี้

เกสา คือผมทั้งหลาย                       โลมา คือขนทั้งหลาย

นะขา คือเล็บทั้งหลาย                     ทันตา คือฟันทั้งหลาย

ตะโจ คือหนัง                                    มังสัง คือเนื้อ

นะหารู คือเอ็นทั้งหลาย                   อัฏฐิ คือกระดูกทั้งหลาย

อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก                วักกัง ม้าม

หะทะยัง หัวใจ                                 ยะกะนัง ตับ

กิโลมะกัง พังผืด                              ปิหะกัง ไต

ปัปผาสัง ปอด                                  อันตัง ไส้ใหญ่

อันตะคุณัง ไส้น้อย                          อุทะริยัง อาหารใหม่

กะรีสัง อาหารเก่า                           มัตถะเก มัตถะลุงคัง เยื่อในสมอง

ปิตตัง น้ำดี                                       เสมหัง น้ำเสลด

ปุพโพ น้ำเหลือง                               โลหิตัง น้ำเลือด

เสโท น้ำเหงื่อ                                   เมโท น้ำมันข้น

อัสสุ น้ำตา                                       วะสา น้ำมันเหลว

เขโฬ น้ำลาย                                    สิงฆานิกา น้ำมูก

ละสิกา น้ำไขข้อ                               มุตตัง น้ำมูตร

เอวะมะยัง เม กาโย                         กายของเรามีอย่างนี้

อุทธัง ปาทะตะลา                            เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา

อะโธ เกสะมัตถะกา                        เรื่องต่ำแต่ปลายผมลงไป

ตะจะปะริยันโต                                มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ

ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน      เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ อย่างนี้แล


 

          ความรู้อันนี้พระพุทธองค์ได้รู้เห็นก่อนการตรัสรู้ แล้วกลายเป็นกายคตาสติสูตร ที่เราผู้ปฏิบัติยึดเป็นแนวทางแห่งการพิจารณาอสุภกรรมฐาน เมื่อจิตของพระพุทธองค์ไปสงบนิ่งสว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ทำให้พระองค์รู้ความเป็นจริงของร่างกายทั้งหมดในขณะจิตเดียว คือพระองค์มองเห็นหัวใจกำลังเต้นฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มองเห็นปอดกำลังสูดอากาศเข้าไปเลี้ยงร่างกาย มองเห็นตับกำลังแยกเก็บอาหารส่วนละเอียดไว้ไปเลี้ยงร่างกาย มองเห็นตับอ่อนกำลังทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและนำเอากรดมาช่วยย่อยอาหาร ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ พระองค์รู้ทั่วถ้วนหมดทุกสิ่งทุกอย่างในขณะจิตเดียว แล้วพระจิตของพระองค์ก็วิตกอยู่กับสิ่งเหล่านั้นกำหนดรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้จนกระทั่งจิตละเอียดลงไป ๆ กายจางหายไป ยังเหลือแต่จิตนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในจักรวาลนี้รู้สึกว่ามีแต่จิตของพระองค์ดวงเดียวเท่านั้นสว่างไสวอยู่

 

          ในตอนนี้จิตของพระองค์เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเป็น อัตตาทีปะ มีตนเป็นเกาะ เป็น อัตตสรณา มีตนเป็นที่ระลึก คือระลึกอยู่ที่ตน รู้อยู่ที่จิต อัตตาหิ อัตตโน นาโถ จิตมีตนเป็นตนของตน เมื่อจิตของพระองค์ไปดำรงอยู่ในสมาธิขั้นจตุตถฌานนานพอสมควร ต่อไปนี้จะได้ลำดับองค์ฌาน

 

          ปฐมฌาน มีวิตก วิจารณ์ปีติ สุข เอกัคคตา วิตก หมายถึง จิตไปรู้อยู่กับสิ่ง ๆ หนึ่ง หรือบางทีรู้เฉพาะในจิตเพียงอย่างเดียวแล้วก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง คือจิตรู้อยู่ที่จิต อันนี้เป็นปฐมฌาน

 

          ทุติยฌาน จิตไม่ได้ยึดสิ่งรู้ แต่รู้อยู่ที่ตัวเอง แต่ก็ยังรู้ลึกว่ามีปีติไม่สุข แล้วก็มีเอกัคคตา เมื่อจิตสงบละเอียดลงไป ปล่อยวางปีตี ยังเหลือแต่ความสุขก็อยู่ในฌานที่ ๓ ตอนนี้จะรู้สึกว่ากายละเอียด ค่อย ๆ จางไป แต่ยังปรากฏอยู่ จิตจะเสวยสุขในปีติอย่างล้นพ้น ซึ่งจะหาความสุขใดเปรียบเทียบไม่ได้

 

          แล้วในที่สุดกายก็หายไป ความสุขก็พลอยหายไปด้วย ยังเหลือแต่จิตนิ่งสว่างไสวอยู่อย่างนั้น จิตเป็นหนึ่งคือ เอกัคคตา แล้วก็เป็นกลางโดยเที่ยงธรรม ซึ่งเรียกว่า อุเบกขา ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า

 

          ฌานที่ ๑ ประกอบไปด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา

          ฌานที่ ๒ ประกอบไปด้วยองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

          ฌานที่ ๓ ประกอบไปด้วยองค์ ๒ คือ สุข กับเอกัคคตา

          ฌานที่ ๔ ประกอบไปด้วยองค์ ๒ คือ เอกัคคตา กับอุเบกขา

 

          เป็นอันว่าในช่วงนั้นจิตของพระองค์ดำรงอยู่ในจตุตถฌาน เมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว แทนที่จะก้าวหน้าไปอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่พอขยับจะเคลื่อนจากฌานที่ ๔ วกเข้าไปสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ คือเข้านิโรธสมาบัติ จิตอยู่ในนิโรธสมาบัติ ดับความสว่าง จิตรู้อยู่ในจิตอย่างละเอียด สัญญาเวทนาดับไปหมด แต่ก็ยังมีเหลือรู้อยู่เพียงนิดเดียวเท่านั้น สัญญาเวทยิตนิโรธเป็นฐานสร้างพลังจิต คือพลังสมาธิ พลังสติปัญญา เพื่อเตรียมก้าวขึ้นไปสู่ภูมิธรรมขั้นโลกุตระ

 

          เมื่อจิตของพระองค์ดำรงอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธ สร้างพลังเพียงพอแล้ว จิตเบ่งบานออกมาอีกทีหนึ่ง สามารถแผ่รัศมีสว่างไสวครอบคลุมจักรวาลทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดจะปิดบังจิตดวงนี้ พระจันทร์ พระอาทิตย์ แม้จะส่องแสงลงมาสู่โลก ก็ส่องไปได้เฉพาะที่ไม่มีสิ่งกำบัง แต่จิตของพระพุทธองค์นั้นส่องสว่างไปทั่วหมด ทุกหนทุกแห่ง ไม่มีสิ่งกำบัง ไม่มีอะไรที่จะปิดบังดวงจิตดวงนี้ได้ มองทะลุจนกระทั่งบาดาลถึงพิภพพญานาค

 

          มองทะลุจนกระทั่งผืนแผ่นด้วย พระองค์สามารถกำหนดความหนาของแผ่นดินได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ในช่วงนั้น ทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นโลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก

          โลก                 ตามความหมายในทางธรรมะ มีอยู่ ๓ โลก

          ยมโลก            ได้แก่ โลกเรื่องต่ำ คือต่ำกว่าภูมิมนุษย์และภูมิสัตว์เดรัจฉานลงไป ได้แก่ภพของ

          ภูตผีปีศาจ        เปรต อสุรกาย สัตว์นรก อันนั้นเรียกว่า ยมโลก

          มนุสสโลก         ได้แก่ แดนเป็นที่อยู่ของมนุษย์และสัตว์ผู้มีกายมีใจ

         เทวโลก            ได้แก่ แดนเป็นที่อยู่ของเทวดา ตั้งแต่เทวดาชั้นจาตุฯ สูงสุดจนกระทั่งพรหมโลกชั้นอกนิษฐาพรหม

 

          พระองค์ผู้พร้อมในขณะจิตเดียว ทั้งยมโลก มนุสสโลก เทวโลก แล้วเกิดความรู้ต่อไปอีก ทำไมสัตว์ทั้งหลายจึงมีประเภทต่าง ๆ กัน อันนี้พระองค์ยังไม่ได้คิดเช่นนั้น เป็นแต่มองเห็นความแตกต่างของสัตว์และมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ภูตผีปีศาจ เปรต อสุรกายทั้งหลายเท่านั้น แล้วก็รู้กฎของกรรม เป็นสิ่งจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่าง ๆ รู้กิเลสคืออวิชชาที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม แต่ในขณะที่รู้นั้น พระองค์รู้นิ่งอยู่เฉย ๆ ทรงรู้จนกระทั่งเหตุ รู้ทั้งปัจจัย รู้ความเป็นไปของมวลหมู่สัตว์ทั้งหลายในจักรวาลนี้ แต่จิตดวงนี้คิดไม่เป็น พูดไม่เป็น สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น รู้เห็นแล้วก็สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้พร้อมหมดทั้งเรื่องของปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ บันทึกไว้พร้อมไม่มีขาดตกบกพร่อง ตามนิสัยของพระสัพพัญญู

 

          อันนี้เป็นการตรัสรู้ของพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสรู้ในขณะที่จิตไม่มีร่างกายตัวตน ซึ่งแม้ไม่มีร่างกายตัวตน จิตสามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ว่าพูดไม่เป็น คิดไม่เป็น

 

          ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

          จิตของเรานี่จะคิดได้ต่อเมื่อยังสัมพันธ์อยู่กับร่างกาย เมื่อแยกจากร่างกายออกไปแล้ว ไม่มีเครื่องมือ จึงคิดไม่เป็น ความคิดมันเกิดจากประสาทสมอง จิตไม่มีร่างกายตัวตน ไม่มีรูป ไม่มีร่าง จึงไม่มีมันสมองที่จะใช้ความคิด

 

          เพราะฉะนั้นรู้เห็นอะไรก็ได้แต่นิ่ง แต่สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไว้พร้อมหมดไม่มีขาดตกบกพร่อง

 

          เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นโลกวิทูละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว จิตของพระองค์ถอนจากสมาธิขึ้นนี้มา พอมารู้สึกว่ามีกาย ตอนนี้ได้เครื่องมือแล้ว จิตของพระองค์จึงมาพิจารณาทบทวนถึงสิ่งที่รู้เห็นนั้นซ้ำอีกทีหนึ่ง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา ทรงพิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้ ตั้งแต่ชาติหนึ่ง ชาติสอง ชาติร้อย ชาติพัน ชาติหมื่น ชาติแสน ชาติล้าน... ไม่มีที่สิ้นสุด ว่าพระองค์เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง กว่าจะได้มาถึงการตรัสรู้นี่

 

          นอกจากพระองค์จะรู้เรื่องของพระองค์เองแล้ว ยังสามารถรู้เรื่องของคนอื่นสัตว์อื่นได้ด้วยว่า มวลสัตว์ทั้งหลายในจักรวาลนี้ได้เกิดมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ เคยเป็นอะไรมาบ้าง อันนี้ความรู้เรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

 

          จิตของพระองค์คิดพิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณในปฐมยาม และในมัชฌิมยามพระองค์ได้พิจารณาเรื่องการจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลาย จุติก็คือตาย เกิดก็คือเกิดนั้นแหละ ทำไมสัตว์ทั้งหลายจึงมีประเภทต่าง ๆ กัน อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย

 

          เพราะกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย จึงเป็นสุภาษิตขึ้นมาว่า

          กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่าง ๆ กัน เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยนั้น

          เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์มาสอนธรรมแก่มวลสัตว์ทั้งหลาย พระองค์จึงสอนให้พิจารณาธรรมเป็นส่วนใหญ่ว่า เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย

 

          กฎของกรรมนี่เกิดจากการทำการพูด โดยอาศัยความคิดเป็นผู้ตั้งเจตนาว่าจะทำจะพูดจะคิด ในเมื่อทำอะไรลงไปโดยเจตนา สิ่งนั้นสำเร็จเป็นกรรม เรื่องนี้พระองค์พิจารณาจบลงในมัชฌิมยาม

          แล้วก็ทรงคำนึงต่อไปอีกว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม

          ก็มาได้ความเป็นภาษาสมมติบัญญัติว่า เพราะอวิชชา ความรู้ไม่จริง ความรู้ไม่จริงนี่ เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำกรรมตามที่ตนเข้าใจว่ามันถูกต้อง แต่สิ่งที่สัตว์เข้าใจและมีความเห็นว่าถูกต้องนั้น บางอย่างมันก็ถูกต้องตามใจของตนเอง แต่ขัดกับกฎธรรมชาติ บางอย่างมันก็ถูกต้องตามใจของตนเอง และถูกกับกฎธรรมชาติ ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายผู้รู้ไม่จริงจึงทำกรรมดีทำกรรมชั่วคละเคล้ากันไป หมายถึงทำกรรมที่เป็นบาป ทำกรรมที่เป็นบุญ ทำกรรมที่เป็นชั่ว ทำกรรมที่ดี ภาษาบาลีว่า กุศลธรรมคือกรรมดี อกุศลธรรมคือกรรมชั่ว ทำไปตามความเข้าใจของตนเอง

 

          ในเมื่อทำแล้วก็ย่อมได้รับผลของกรรม ได้รับผลของกรรมแล้วก็ต้องเกิดอีก เกิดมาอีกก็ต้องอาศัยกิเลสคืออวิชชาตัวเดียวนั่นแหละ ทำกรรมแล้วทำกรรมเล่า เกิดแล้วเกิดเล่าไม่รู้จักจบจักสิ้น เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร เรื่องนี้พระองค์พิจารณาจบลงในปัจฉิมยาม

 

          ในเมื่อพระองค์ได้พิจารณา ๓ เรื่อง ตามลำดับยามทั้ง ๓ จบลงแล้ว จิตของพระองค์ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ตรัสรู้นี้เป็นความจริงแท้ไม่แปรผัน ในช่วงขณะจิตนั้น อรหัตตมัคคญาณจึงบังเกิดขึ้น ตัดกิเลสอาสวะขาดสะบั้นไปในปัจฉิมยาม จึงได้พระนามว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ด้วยประการฉะนี้

 

          อันนี้คือลักษณะการตรัสรู้ของสมเด็จพระลัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

กรรมฐานจากเรื่องรามเกียรติ์

          หลวงพ่อได้อาจารย์ดี อาจารย์ดีของหลวงพ่อคือพระปิตุลาถึงไปบำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขามเหธร พอได้ยินเสียงพระรามหักคันศรดังโพล้ง..โกรธตัวสั่น เหาะมาทางอากาศ มาแล้วถือขวานเล่มเบ้อเร่อ เงื้อจะสับพระราชาองค์นั้นองค์นี้ ขวานเล่มนี้มันดื่มเลือดวรรณะกษัตริย์มานับไม่ถ้วนแล้วนา ก็มาได้สติ อ๋อ สมาธินี่จะเก่งแค่ไหนอย่างไรมันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญอยู่ที่ศีลบริสุทธิ์ตัวเดียวเท่านั้น พวกนี้บำเพ็ญตบะจนสำเร็จฤทธิ์ แต่เสร็จแล้วมันก็ยังจะมาเข่นฆ่าคนอื่นอยู่ แสดงว่าเราจะบำเพ็ญเพียรให้ถึงมรรคผลนิพพานได้ต้องมีศีลบริสุทธิ์ แล้วที่นี้มันก็คิดกว้างไกลไปหมด มันกระทบไปกระทั่งสังฆมณฑลแห่งประเทศไทย ทำไมพระไทยมันจึงพูดไม่รู้เรื่องกัน เพราะมันทุศีล มันทุศีลยังไง กินนมตอนเย็น นับเงินนับทอง ใช้เงินทองด้วยมือตนเอง มันผิดอาบัติในพระปาฏิโมกข์ทั้งนั้น แล้วเสร็จแล้วมันมาเห็นเรากินหมาก หลวงพ่อยังกินหมากอยู่

 

 

ใครทำผิดวินัย

รับเงินรับทองด้วยมือตนเอง มันผิดอาบัติในพระปาฏิโมกข์

          แม่ชีคนหนึ่งสาว ๆ สวยเสียด้วยซิ มาบอกว่าหลวงพ่อยังกินหมากอยู่ หลวงพ่อก็ยังมีกิเลสอยู่

 

        “อ้าว! ฉันไม่เห็นได้ไปประกาศว่าตัวหมดกิเลสเสียแต่เมื่อไร เพราะว่าปากของฉันมันคมซะยังกับตะไกร ฉันเอาหมากยัดมันไว้ ไม่ให้มันเที่ยวไปตอกคนโน้นทีคนนี้ที”

 

          ที่กล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าเห็นแกสวย เรานึกชอบมัน นึกชอบแม่ชีสวย ๆ พอได้ยิน แกเปิดอ้าวไปเลย มาทีแรกกราบดี๊ดี... พอได้ยินคำนี้แล้วลุกปั๊บๆ หนีไปเลย

 

          คนพวกนี้มันต้องแก้กันโดยวิธีนี้ มันไปมองแต่สิ่งที่มารณรงค์กันเพียงแต่ว่าไม่กินหมาก ดูดบุหรี่

          พระก็เหมือนกัน ลูกศิษย์พระก็เหมือนกัน ยิ่งเขาโจมตีหนัก หลวงพ่อยิ่งกินหมากเก่ง ดูดบุหรี่เก่ง ถ้าเขาว่ากินหมากดูดบุหรี่ เป็นยาเสพย์ติด อ้าว! อมหมากเข้า จุดบุหรี่ดูดมัน ดูดบุหรี่ไม่เป็น ก็แกล้งทำมัน เพราะว่ากินหมากดูดบุหรี่นี่มันไม่มีในบัญญัติในพระปาฏิโมกข์ แต่ว่าพระกินนม น้ำมันเป็นอาหาร แล้วรับเงินรับทองด้วยมือตนเอง มันผิดอาบัติในพระปาฏิโมกข์ ๒ ข้อนี้มีบัญญัติอยู่ในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ

 

          ..อยากจะให้ชาวบ้านทั้งหลายนี่รู้วินัยของพระให้มาก ๆ เขาเอาของมาประเคน เครื่องถังอะไรมาประเคน หลวงพ่อไม่รับประเคน

           อื้อ..หลวงพ่อวัดป่านี้เอาอะไรไปประเคนก็ไม่ยอมรับด้วยมือ

          เขาว่า

          ไม่รู้รังเกียจอะไร

          บางคนนี่

          แหม..ถ้าหากไม่คิดว่าจะไปถวายแล้วจะหอบคืนกลับบ้านเลยแหละ

          เขาว่างั้น เพราะเขาไม่รู้เรื่อง พระก็ไม่บอกให้เขารู้ พระภิกษุรับประเคนอาหารค้างคืนไว้ ตื่นเช้ามาต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่มีใครบอก ถ้าขืนไปบอกประเดี๋ยวเขาจะไม่ประเคน เขาเอาชองเงินมาจะยื่นใส่มือ จะบอกว่า รับไม่ได้หรอก มันผิด อาบัติ ก็กลัวเขาจะไม่ประเคน ก็เลยไม่กล้าบอกเขา นี่เราถูกปิดบังมาสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทย

          เพราะฉะนั้น ใครรู้แล้วพากันเปิดเผยให้ชาวบ้านเขารู้ พระภิกษุทำผิดต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาบัติมันไม่หนักหนาหรอกเพราะมันโทษใหญ่ มันดังแรง ใครเขาก็รู้ แต่ว่าโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่ชี ระดับอาบัติทุกกฎ ทุพภาสิต ปาจิตตีย์ ถุลลัจจัยนี่ ชาวบ้านเขาไม่รู้เพราะไม่มีใครเทศน์ให้เขาฟัง เรื่องวินัยพระปฏิบัติต่อคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ปฏิบัติต่อพระ นี่หลวงพ่อพิมพ์แจกอยู่แปดริ้วเป็นพัน ๆ..แต่เสร็จแล้วก็ไม่มีใครสนใจจะศึกษาให้รู้ เมื่อเราไม่รู้วินัยของพระเราก็โดนพระต้มพระแกงได้ ถ้าเรารู้แล้วพระที่ไหนจะมาโกหกเราได้ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้มันรู้

 

 

 

เรื่องเกี่ยวกับอทินนาทาน

พวกเธอมีเจตนาเป็นขโมย ศีลไม่บริสุทธิ์

          พระภิกษุเดินทางไป เห็นมะม่วงตกอยู่กลางทาง แต่ดูสภาพแล้วมันยังใช้การได้ พระก็ให้ลูกศิษย์เอามาจัดการถวายให้ฉัน ในขณะที่ฉันอยู่ มีพระองค์หนึ่งพูดขึ้นมาว่า

 

          “มัวแต่คุยอยู่นั่นแหละ รีบฉันแล้วก็รีบเก็บเปลือกเก็บเมล็ดเข้าไปซ่อน เดี๋ยวจะมีคนมาเห็น”

          ในขณะนั้นเจ้าของสวนมะม่วงมาเห็นเข้าว่าคนขโมยมะม่วงเขามา แล้วเอาซ่อนไว้ เขาก็มาทักว่า

          “พระคุณเจ้าขโมยมะม่วง ข้าพเจ้าไม่เลื่อมใส”

          เขาก็พูดแค่นั้น ที่นี้พระก็เดือดร้อนใจขึ้นมา นำความไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านรับสั่งถามว่า

          “ในขณะที่เธอฉันมะม่วงนั้น พูดจากันอย่างไรบ้าง”

          พระองค์ที่พูดก็กราบทูลว่า

          “ข้าพระองค์พูดว่า ให้รีบฉันแล้วรีบเก็บเมล็ดเก็บเปลือกเข้า เดี๋ยวจะมีคนมาเห็น”

          พระพุทธเจ้าจึงตัดสินว่า

          “พวกเธอมีเจตนาเป็นขโมย ศีลไม่บริสุทธิ์”

          แล้วอีกพวกหนึ่งไปฉันมะม่วงตกอีกเหมือนกัน เธอไม่ได้พูดอะไร เป็นแต่เพียงว่า พระองค์หนึ่งพูดขึ้นมาว่า

          “ของดี ๆ อุตส่าห์เอามาทิ้ง เราเอามาพิจารณาให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าของเขา มันก็น่าจะได้บุญอยู่บ้าง”

          แล้วก็ให้ไวยาวัจกรจัดถวาย ในขณะที่กำลังฉันมะม่วง เจ้าของสวนมาเห็นเข้า เขามาถามว่า

          “พระคุณเจ้าขโมยมะม่วง ข้าพเจ้าไม่เลื่อมใส”

          พระก็เดือดร้อนใจ ก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ถามถึงเจตนา ที่นี้พระพวกนี้ไม่มีเจตนาที่จะเป็นขโมย พระองค์ก็ตัดสินว่า

          “ศีลของพวกเธอบริสุทธิ์”

          เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เจตนา เช่นอย่างพระภิกษุสงฆ์ไปเห็นของเพื่อนสหธรรมิกก็ชอบใจ ท่านก็นึกว่าของสิ่งนี้มันมีเยอะ ท่านเหลือใช้ เราจะแบ่งไปใช้บ้าง ถือโดยวิสาสะแล้วจะบอกให้ท่านทราบตามหลัง พอหยิบเอาของนั้นไป มันก็ไม่มีอาบัติตามพระวินัย แต่ถ้าหากว่ามีเจตนาจะขโมย พอหยิบของเคลื่อนที่ไปก็เป็นอาบัติ ถ้าของนั้นมีราคาตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป พระก็เป็นอาบัติปาราชิก ถ้าหย่อนกว่า ๑ บาทลงมา ก็เป็นอาบัติถุลลัจจัยแล้วก็อาบัติปาจิตตีย์

 

          ที่นี้พระขโมยสัตว์พาหนะ ขโมยม้า วัว ควาย พอจูงสัตว์พาหนะมันเดินพ้นจากที่ยืนของมันไป รอยเท้าหลังเหยียบรอยเท้าหน้า ระยะต่อมารอยเท้าหน้าเหยียบรอยเท้าหลัง ก็เป็นอันว่ามันขาดตอน พระก็ต้องอาบัติปาราชิก

          พระภิกษุนำของหนีภาษี ยกตัวอย่างว่าสิ่งนี้เป็นสินค้านั้นเขามีขอบเขตว่าห้ามนำออกนอกเขต เช่น เขาห้ามนำข้าวสารออกจากเขตจังหวัด... อะไรทำนองนั้น ที่นี้พระภิกษุนำของสิ่งนี้ก้าวผ่านแดนไปเพียงก้าวเดียว พระต้องอาบัติปาราชิก

          แต่ถ้าหากว่ามีอยู่ในครอบครองในสถานที่ที่อยู่ของเรา ไม่นำออกไป มีเท่าไรก็ไม่ผิดกฎหมายและไม่เป็นอาบัติ

          เพราะฉะนั้น เรื่องใดที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองนี่ พระไปทำแล้วมันผิด นี่หลวงพ่อยังนึกเป็นห่วงพระที่ไปสร้างวัดอยู่ตามป่าเขาตามดง มูลเหตุบัญญัติพระวินัยข้ออทินนาทาน พระภิกษุไปตีสนิทกับพนักงานป่าไม้ แล้วไปเอาไม้หลวงมาสร้างวัด ชาวบ้านเขาก็ตำหนิ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าก็ยกเป็นเหตุ แล้วก็บัญญัติสิกขาบทข้ออทินนาทาน

 

 

อย่าเป็น “กรรมฐานไข่เน่า”

ส่วนจิตใจเปรียบเหมือนไข่แดงซึ่งซ่อนอยู่ภายในเปลือกไข่

          สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผล หรือให้เป็นแนวทางที่จะนำสมาธิไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมเราต้องอาศัยศีล สมาธิที่มีศีลเท่านั้นที่จะนำวิถีจิตของผู้บำเพ็ญให้ดำเนินไปสู่สัมมาสมาธิโดยถูกต้อง

 

          จุดเริ่มต้นแห่งการทำความดีย่อมมีกฎหรือระเบียบอันเป็นข้อมูล กาย วาจา และใจของเราที่จะรองรับคุณธรรมหรือความดีนั้น เราก็ต้องชำระให้บริสุทธิ์สะอาดตามสมควร ศีล ๕ ประการนี้เป็นแม่บท เป็นรากมูล เป็นจุดเริ่มต้น เป็นต้นพรหมจรรย์ของผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

 

          ศีลเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติ เพราะกายวาจาของคนเราเปรียบเหมือนเปลือกสำหรับหุ้มไข่ ส่วนจิตใจเปรียบเหมือนไข่แดงซึ่งซ่อนอยู่ภายในเปลือกไข่ เราจะนำไข่ของเราไปฟักให้มันเกิดเป็นตัว เราต้องทะนุถนอมเปลือกไข่ให้อยู่ในสภาพปกติ ไม่มีรอยแตกรอยร้าว รอยบุบ มันจึงฟักให้เป็นตัวได้ ไม่เช่นนั้นมันมีแต่เน่าท่าเดียว

 

          ดังนั้นนักปฏิบัติที่จะทำจิตทำใจของตนเองให้ก้าวขึ้นไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมขั้นสูง เราจำเป็นต้องรักษากาย วาจา อันเปรียบเหมือนเปลือกหุ้มไข่ให้บริสุทธิ์สะอาดด้วยกฎ หรือระเบียบข้อปฏิบัติตามภูมินั้น ๆ ซึ่งเรียกว่าศีลนั่นเอง เมื่อเรามาบำเพ็ญสมาธิภาวนา สมาธิของเราก็เจริญงอกงาม สมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาสมาธิ

 

          สัมมาสมาธิย่อมทำให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสมาธิย่อมเป็น สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง ดังนั้น การปฏิบัติศีลจึงเป็นคุณภาพประกันความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติ

 

          เมื่อเรารักษาศีล สิกขาบท วินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี กายวาจาของเราก็เป็นปกติ ก็เป็นศีล เมื่อกายวาจาเป็นศีลโดยสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยหนุนส่งให้จิตของเรากลายเป็นสภาวะปกติ เป็นศีลอีกเช่นเดียวกัน

 

          ดังนั้น ศีลนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักปฏิบัติ แม้พระเจ้าพระสงฆ์เดินธุดงค์ไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อเวลาไม่มีไวยาวัจกร ไปจับต้องปัจจัย จตุปัจจัย เงินทอง หรือเอาเงินเอาทองใส่ลงไปในย่ามแล้วสะพายไปเอง ก็เป็นการละเมิดสิกขาบทวินัยข้อว่าด้วยห้ามจับต้องเงินและทอง ที่นี้เมื่อมีปัจจัยอยู่ในย่ามก็ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เมื่อควักออกจากย่ามมาจับจ่ายใช้สอยก็เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์อีกตัวหนึ่ง ของที่ได้มาจากเงินซึ่งเป็นนิสสัคคีย์ เมื่อพระสงฆ์เอามาบริโภคใช้สอย ก็เป็นอาบัตินิสสัคคีย์อีกตัวหนึ่ง ตกลงว่าเงินบาทเดียวเป็นอาบัติถึง ๓ ตัว ในเมื่อพระคุณเจ้าท่านละเมิดลิกขาบทวินัยเพียงตัวเดียวและ ๓ จังหวะ เป็นการต้องอาบิตนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓ ตัว แม้จะเดินธุดงค์ไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะอาศัยสิกขาบทวินัยไม่บริสุทธิ์สะอาดนั่นเอง การเดินธุดงคกรรมฐานของท่านจึงเปรียบเหมือน กรรมฐานไข่เน่า แม้จะเที่ยวเตร่ไปประกาศตนว่าเป็นพระธุดงคกรรมฐาน ก็เป็นแค่หลอกลวงชาวโลกให้หลงเชื่อ

 

 

เตือนหมู่สงฆ์

ผลประโยชน์ที่เกิดจากบุญบารมีของเราคือสมบัติของศาสนา

          เราต้องนึกว่าตัวของเรานี่เป็นสมบัติของศาสนา เป็นคนของศาสนา ผลประโยชน์เกิดจากบุญบารมีของเราคือสมบัติของศาสนา

 

          หน้าที่ประจำของพระสงฆ์ เวลาสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือแผ่เมตตาให้ญาติโยม อุทิศส่วนกุศลให้ญาติโยม อันนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เราประพฤติคุณงามความดีแล้ว เราก็คิดถึงคุณข้าวแดงแกงร้อนเขา สวดมนต์ภาวนาแล้วก็อธิษฐานจิต อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปถึงเขา แผ่เมตตาไปถึงเขา คนที่มีภูมิจิตสูง ภูมิจิตละเอียดหน่อย ก็สัมผัสรู้ได้

 

 

ความกตัญญูคือคุณธรรมเด่นของหลวงพ่อ

หลักวิธีดำเนินชีวิตของหลวงพ่อ ความกตัญญูลูกเดียว

          หลวงพ่อเป็นเด็กกำพร้ามาแต่อายุ ๔ ขวบ หลักวิธีดำเนินชีวิตของหลวงพ่อ ความกตัญญูลูกเดียว ใครเป็นเจ้าบุญนายคุณ เขาทำดีแก่เราเพียงส่วนเดียว เราจะตอบแทน ๑๐ เท่า เคยมีโยมอุปัฏฐากท่านหนึ่งเป็นเศรษฐีมีโรงสี ๕โรง มีห้องแถว ๑๐๐ ห้อง มีที่ดิน ๑,๐๐๐ ไร่ ภายหลังมาลูกชายทำการค้าขายเจ๊งลงไป ตกทุกข์ได้ยาก ไปเยี่ยมโยมอุปัฏฐาก ลูกชายใหญ่ไปสร้างบ้านให้อยู่หลังเล็ก ๆ อยู่ในท่ามกลางของชุมชนย่านห้วยขวาง ไปเยี่ยม ไปถามว่า

          โยม ความเป็นอยู่เป็นอย่างไร สะดวกสบายหรือขัดข้องอะไรบ้าง

          ท่านก็บอกว่า

          “โอย เดี๋ยวนี้แทบแย่จริง ๆ บางวันแทบจะไม่มีสตางค์ค่ากับข้าว”

          ทีนี้ก็มาสงสารโยมอุปัฏฐากเมื่อก่อนนี้เขามีบุญมีคุณต่อเรา ทำให้เรามีหน้ามีตา เราจะต้องการอะไร เว้นไว้แต่ดาวกับเดือน ที่นี้เขายากจนลงอย่างนี้ มันก็เป็นหน้าที่ของเรา ทำอย่างไร ก็คิดว่าทำอย่างไรจะมีทางเลี้ยงดูโยม แรกที่สุดคณะคุณมนัสนิมนต์ไปเทศน์ที่วัดเบญจมบพิตร เลยกลายเป็นนักเทศน์ ที่กลายเป็นนักเทศน์ขึ้นมานี่เพราะจะไปหาเงินเลี้ยงโยมอุปัฏฐากคนนี้ หลวงพ่อต้องหาเงินส่งคนแก่เดือนละหมื่น ๆ ๆ ๆ ผู้เฒ่าก็อยู่เย็นเป็นสุขสบายมาจนกระทั่งตาย

 

 

 

ต้นตระกูลกรรมฐาน

แสดงโดยพระราชสังวรญาณ(พุธ ฐานิโย) เนื่องในวันบูรพาจารย์ ๒ ธ.ค. ๓๙

          "บูรพาจารย์" หมายถึง อาจารย์ผู้เกิดก่อนเรา ท่านเกิดก่อนเรา ท่านบวชก่อนเรา ท่านสอนเรามาก่อน จึงได้ชื่อว่า พระบูรพาจารย์

          อันดับของพระบูรพาจารย์ในภาคอีสาน อันดับแรก ท่านอริยกวี (อ่อน) ได้ไปอุปสมบทในสำนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมัยนั้นพระองค์ยังทรงอุปสมบทอยู่ ยังไม่ทรงลาผนวชออกมาครองเมือง แล้วท่านผู้นั้นก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเรียนรู้พระธรรมวินัย แล้วก็นำธรรมวินัยซึ่งถอดแบบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ไปประดิษฐานคณะพระกรรมฐานธรรมยุตสงฆ์ที่วัดสีทอง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสิ้นบุญบารมีของท่านอริยกวี (อ่อน) ก็ตกทอดมาถึงท่าน พันธุละ ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่าน

  

 หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 06:37 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack