A Free Template from Joomlashack

A Free Template from Joomlashack

แบบสำรวจ

ท่านกำลังใช้ระบบปฏิบัติการ (OS) อะไรอยู่ ?
 

Search

ผู้เข้าเว็บขณะนี้

เรามี 42 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

JComments Latest

  • Tehno MS - tehnica agricola in Moldova pentru gosp...
  • https://psk-termit.ru/
  • my web blog: севастополь сантехника купить: https:...
  • sex movies: https://es.drochnik.vip/
  • https://ed-apteka.ru/
ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 17 จบบริบูรณ์ PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2012 เวลา 02:11 น.
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๑๗

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

  

 

นิทานเรื่องสุดท้าย “อิติปิโส ภะคะวือ”

เอาคำไหนมาบริกรรมภาวนาก็ได้ทั้งนั้น ขอแต่ว่าให้เราจริงใจอดทน

          นึกถึงนิทานย่อ ๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่าให้ฟังเสมอ หลวงตาพร อาจารย์ของหลวงพ่อ นักธรรมตรีก็ไม่ได้ สอนลูกศิษย์ลูกหาก็ไม่มีปฏิภาณโวหาร แต่ว่าลูกศิษย์สอบได้นักธรรมตรี โท เอก

 

          ท่านกลัวว่าลูกศิษย์จะลบหลู่ดูหมิ่นท่านหรืออย่างไรก็ไม่รู้ล่ะ แต่ท่านก็เล่านิทานอันนี้ให้ฟังอยู่บ่อย ๆ ท่านบอกว่า

 

          มีครูบาอาจารย์ลำนักหนึ่งสอนลูกศิษย์ให้ภาวนา อิติปิโส ภะคะวือ แล้วลูกศิษย์ที่ยังไม่มีความรู้กว้างขวาง ก็ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์อย่างคนว่าง่าย แต่มาภายหลังลูกศิษย์เหล่านั้นมีโอกาสได้ไปศึกษาเล่าเรียนในต่างสำนัก บางท่านก็ได้เป็นมหาเปรียญกลับมา ทีนี้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ก็ไปค้นคว้าตำรับตำราหาคำว่า อิติปิโส ภะคะวือ ไม่มีเลย

 

          ที่นี้พอกลับมาแล้ว ก็มาปรึกษาหารือว่าอาจารย์ของเรานี่ เข้าใจผิดซะแล้วละ พวกเราต้องมาช่วยกันแก้ทิฏฐิของอาจารย์ มีอย่างที่ไหน อิติปิโส ภะคะวือ มาสอนกัน มันไม่มีในตำราสักหน่อยหนึ่งเลย

 

          พอกลับมาก็เข้าไปกราบอาจารย์

          “อาจารย์ ๆ สอนพวกเราว่า อิติปิโส ภะคะวือ นี้สอนผิดซะแล้วล่ะ ควรแก้ใหม่ พวกเราไปค้นตำรับตำรากันหมดพระไตรปิฏกแล้ว ไม่เจอคำว่า อิติปิโส ภะคะวือ กันสักแห่งเลย อาจารย์เอาที่ไหนมาว่าก็ไมรู้ล่ะ”

 

          ทีนี้อาจารย์ท่านก็บอกว่า

          “เราก็ปฏิบัติของเรามาอย่างนี้ ของพวกท่าน อิติปิโส ภะคะวา ก็คือ อิติปิโส ภะคะวา ไปชิ จะมาให้ผมเลิก อิติปิโส ภะคะวีอ นี้มันเป็นไปไม่ได้หรอกเพราะผมปฏิบัติมานานแล้ว”

 

          ลงผลสุดท้ายอาจารย์กับลูกศิษย์เถียงกันไม่ตก ก็เลยต้องแยกทางกัน อาจารย์บอกว่า

 

          “เออ! ถ้า อิติปิโส ภะคะวา ของท่านทั้งหลายถูกต้อง พวกท่านพากันอยู่วัดเสีย ผมจะไปภาวนา อิติปิโส ภะคะวือ ของผมบนภูเขาโน้น”

 

          ว่าแล้วท่านก็เตรียมบริขารของท่านไปอยู่บนเขา

 

          ฝ่ายลูกศิษย์อยู่ทางวัด ข้อวัตรปฏิบัติก็ย่อหย่อน แล้วประชาชนทั้งหลายก็เสื่อมศรัทธาไม่มีความเลื่อมใส เพราะว่าพระภิกษุไม่สำรวมในสิกขาบทวินัย ไม่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ เขาไม่มีศรัทธา ไม่มีใครทำบุญก็พากันอดอยาก เกิดความเดือดร้อน แล้วก็พากันคิดถึงครูบาอาจารย์ ก็มาปรึกษาตกลงกันว่า เราจะไปอาราธนาอาจารย์ของเรากลับคืนมา ว่าแล้วก็พากันไป ขึ้นไปบนภูเขาที่อาจารย์ท่านพักอยู่ พอไปถึงก็พากันไปกราบอาจารย์ อาจารย์ก็เดินจงกรมเฉย

 

          ที่นี้ลูกศิษย์ก็กราบเรียนท่าน ท่านก็หันหน้ามา ลูกศิษย์องค์หัวหน้าก็กราบเรียนท่านว่า

 

          “พวกเรามาขอพักกับอาจารย์สักคืนหนึ่ง”

 

          “เออ! ที่พักที่นี้กุฏิก็ไม่มี มีแต่ร่มไม้กับพลาญหิน เสื่อหมอนก็ไม่มี มีแต่ก้อนหินกะใบไม้นั้นแหละ พวกท่านต้องการที่ไหนเป็นที่สบายก็นิมนต์จัดหาเอาเอง”

          พอเสร็จแล้วพระทั้งหลายก็พากันจัดที่พักผ่อนหลับนอนตามอัธยาศัย

          พอตื่นเช้าขึ้นมา อาจารย์ก็เดินจงกรมเฉย จนกระทั่ง ๑๑ โมง มันเพลแล้วยังไม่พาบิณฑบาตเลย

          “อาจารย์เมื่อไหร่จะพาออกบิณฑบาตซักที”

          “ฮือ! หิวแล้วหรือ”

          “หิวแล้วล่ะ”

          “อ้าว! ถ้าหิวก็เก็บก้อนหินใส่บาตร”

          พอเก็บก้อนหินใส่บาตรมา มาประเคนอาจารย์ อาจารย์ก็นั่งหลับตาลง ก็เพ่งลงในบาตร แล้วท่านก็สวด อิติปิโส ภะคะวือ อิติปิโส ภะคะวือ ก้อนหินที่อยู่ในบาตรกลายเป็นข้าวมธุปายาส อันหอมตลบไปทั่วทุกทิศทุกทาง พอเสร็จแล้วก็ยื่นมาให้พวกลูกศิษย์

          “อ้าว! เอาไปฉันซะ”

          ที่นี้พระทั้งหลายก็พากันฉัน ฉันเสร็จแล้วก็พักผ่อนตามอัธยาศัย

          พอวันหลังมาลูกศิษย์ก็พากันไปกราบอาจารย์

          “อาจารย์ ๆ วันนี้พวกเราขอทดลองดูหน่อยนะ”

          “เออ! ตามใจ”

          พอเสร็จแล้วต่างคนก็ต่างเก็บก้อนหินใส่เข้าไปในบาตรแล้วก็ไปนั่งบริกรรมภาวนา อิติปิโส ภะคะวือ ๆ ๆ จิตมันก็ไม่เป็นสมาธิสักที อิติปิโส ภะคะวือ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่มันก็ไม่เป็นสมาธิสักที่ ลืมตาขึ้นมาก้อนหินก็คงเป็นก้อนหินโค่โร่อยู่อย่างเก่า ผลสุดท้าย ๑๑ โมงถึงเวลาฉัน ยอมจำนนเข้าไปกราบอาจารย์

          “โอ้ย! อาจารย์ไม่ไหวแล้ว ท่องมาจนเมื่อยแล้วไม่เห็นเป็นข้าวมธุปายาสสักที”

          “หือ! อ้าว! เอาบาตรมาตั้งเรียงกัน”

       ตอนนี้อาจารย์แสดงปาฏิหาริย์ใหญ่เลย เอามือไปแตะบาตรเท่านั้นแหละ ในบาตรควันตลบขึ้นมากลายเป็นข้าวมธุปายาส

 

          ที่นี้พอตกตอนเย็นมา อาจารย์ก็เรียกมาประชุมกัน ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ท่านบอกว่า อิติปิโส ภะคะวือ หรือ อิติปิโส ภะคะวา นี่นะมันเป็นแต่เพียงคำบริกรรมภาวนาเท่านั้นเองแหละ เมื่อก่อนนี้ผมก็ภาวนา อิติปิโส ภะคะวา เหมือนกัน พอภาวนาไป ภาวนาไป จิตมันเคลิ้ม ๆ ลงไปสักหน่อยหนึ่งคำว่า อิติปิโส ภะคะวือ มันก็โผล่ขึ้นมา ผมก็เลยจับเป็นอารมณ์ภาวนาเรื่อยมา จนกระทั่งได้สมาธิ ได้ญาณ สามารถเสกก้อนหินเป็นข้าวกินได้

 

          เพราะฉะนั้น พวกท่านจะไปสำคัญมั่นหมายอะไรกับคำบริกรรมภาวนา ท่านจะเอาคำไหนมาบริกรรมภาวนาก็ได้ทั้งนั้น ขอแต่ว่าให้เราจริงใจอดทน พากเพียรพยายามเท่านั้นเป็นพอ

 

          ทีนี้ถ้าจะพิจารณาตามนิทานย่อ ๆ นี้ เราก็ไม่น่าจะไปสงสัยข้องใจกับคำบริกรรมภาวนา ภาวนาพุทโธไม่หยุด จิตมันก็เป็นสมาธิได้ สัมมา อรหัง ไม่หยุด จิตมันก็เป็นสมาธิได้ ยุบหนอ พองหนอ ไม่หยุด จิตมันก็เป็นสมาธิได้ เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายอย่าไปข้องใจสงสัยในเรื่องคำภาวนา หรืออารมณ์จิตในการภาวนา

 

 

 

อาการป่วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ

          วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑

                    เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ตึก ๘๔ ปี ชั้น ๖

          วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

                    เข้ารับการฉายแสงรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ ครั้งแรก

          วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒

                    กลับมาพักผ่อนที่วัดป่าสาลวัน

          วันที ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒

                    เดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

          วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒

                    กลับมาพักผ่อนที่วัดป่าสาลวัน

          วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

                    เดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

          วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒

                    กลับมาพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา

                    อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น ๘ ห้อง ๙๘๒๑

 

 

 

แถลงการณ์โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา

เรื่องอาการอาพาธของพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

          ด้วยหลวงพ่อพุธ ฐานิโย อาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๑ เป็นต้นมา เมื่อเวลา ๐๓.๐๐ น. วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๒ หลวงพ่อมีอาการหายใจไม่สะดวก คณะแพทย์ได้ให้การรักษาพยาบาลโดยการใส่เครื่องควบคุมการหายใจ และรักษาตามอาการ ขณะนี้ยังอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของคณะแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

 

          วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒

               เวลา ๐๙.๐๐ น.    พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) มีอาการดีขึ้นโดยตอบรับต่อสิ่งกระตุ้น คณะแพทย์ยังให้การรักษาพยาบาล โดยการใส่เครื่องช่วยควบคุมการหายใจอยู่และอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของคณะแพทย์

 

          วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

               เวลา ๐๘.๐๐ น.    พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) อาการโดยทั่วไปยังทรงอยู่เหมือนวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะแพทย์ยังคงใช้เครื่องควบคุมการหายใจ ถวายการรักษาและสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ถวายสารอาหาร ผ่านเข้ากระเพาะอาหารโดยตรง และอยู่ในการดูแลของคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

          วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

            อาการโดยทั่วไปอยู่ในระดับเดิม จึงได้ถวายการตรวจวินิจฉัยสมองด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่ามีอาการตายของเนื้อสมอง นอกจากมีเนื้อสมองฝ่อ ซึ่งพบเห็นปกติในผู้สูงอายุ

 

          วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

               เวลา ๐๘.๐๐ น.    คณะแพทย์ยังคงใช้เครื่องควบคุมหายใจ ถวายยารักษาและสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ถวายสารอาหาร ผ่านเข้ากระเพาะอาหารโดยตรง ความดันโลหิต ๑๓๒/๗๒ มิลลิเมตรปรอท ชีพจร ๑๐๕ ครั้งต่อนาที หัวใจเต้นปกติ หายใจโดยเครื่องควบคุม ๒๖ ครั้งต่อนาที

 

          วันที่ ๓-๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒

               อาการโดยทั่วไปยังอยู่ในระดับเดิม

 

          วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒

               เวลา ๘.๓๐ น.       ความดันโลหิต ๑๒๔/๕๓ มิลลิเมตรปรอท ชีพจร ๙๙ ครั้งต่อนาที หัวใจเต้นปกติ หายใจโดยใช้เครื่องควบคุม ๒๔ ครั้งต่อนาที่คณะแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ยังคงถวายการรักษาพยาบาลและดูแลอย่างใกล้ชิด

 

          วันที่ ๑๐ - ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๒

               อาการโดยทั่วไปยังอยู่ในระดับเดิม

 

          วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒

               เวลา ๘.๐๐ น.       ความดันโลหิต ๙๘/๕๐ มิลลิเมตรปรอท หัวใจเต้นปกติ ชีพจร ๑๐๓ ครั้งต่อนาที หายใจเร็วขึ้นเป็น ๓๐ ครั้งต่อนาที ถวายยาทางหลอดเลือด เพื่อควบคุมการหายใจให้สอดคล้องกับเครื่องควบคุมการหายใจ อุณหภูมิร่างกาย ๓๘ องศาเซลเซียส การขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะปกติ ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงของปอดเพิ่มขึ้นจากเดิม ๓๔/๑๓ (๑๘) เป็น ๔๕/๑๙ (๒๐) มิลลิเมตรปรอท ถวายยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือดดำ เพื่อขับสารน้ำออก เพื่อลดความดันของหลอดเลือดของปอดและเนื้อปอด ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ และอุลตร้าซาวนด์ปอด พบว่ามีสารน้ำแทรกอยู่ระหว่างกลีบปอดทั้งซ้ายและขวา ได้เจาะเอาสารน้ำออกเพื่อเพิ่มปริมาตรการทำงานของปอดและส่งสารน้ำตรวจหาและเพาะเชื้อต่อไปจำนวน ๔๐๐ มิลลิลิตร เมื่อ ๑๓.๓๐ น. คณะแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ยังคงถวายการรักษาพยาบาลและดูแลอย่างใกล้ชิด

 

          วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒

               เริ่มไม่ตอบรับต่อสิ่งกระตุ้น ขับถ่ายปัสสาวะลดน้อยลง หายใจด้วยการควบคุมของเครื่องช่วยหายใจ และ ต้องใช้ความเข้มข้นและความดันของออกซิเจนเพิ่มขึ้น ร่วมกับการเพิ่มปริมาณยาควบคุมการหายใจ ให้สอดคล้องกับเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากความยืดหยุ่นของเนื้อปอดลดลงมาก ความเข้มข้นของเลือดลดลง จึงได้ถวายโลหิตทางหลอดเลือด จำนวน ๕๐๐ มิลลิลิตร

                เวลา ๐๘.๐๐ น.    ความดันโลหิต ๑๐๒/๔๑ มิลลิเมตรปรอท ชีพจร ๑๑๐ ครั้งต่อนาที หัวใจเต้นปกติ หายใจโดยการควบคุมของเครื่องช่วยหายใจ ๓๐ ครั้งต่อนาที ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดลงจาก ๙๖ - ๑๐๐% เป็น ๘๖ – ๙๕% ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงของปอด ๔๘/๒๐ มิลลิเมตรปรอท คณะแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ยังคงถวายการรักษาพยาบาลและดูแลอย่างใกล้ชิด

 

          วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

               เวลา ๐๓.๐๐ น.    ความดันโลหิตลดลงเรื่อย ๆ ชีพจรเปลี่ยนแปลง คลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลง

               เวลา ๐๖.๐๐ น.    ความดันโลหิตลดลงเหลือระหว่าง ๘๕/๕๘ และ ๕๙/๒๖ มิลลิเมตรปรอท

               เวลา ๐๖.๓๐ น. วัดความดันโลหิตไม่ได้ ยังมีคลื่นหัวใจอยู่

               เวลา ๐๗.๑๐ น. วัดความดันโลหิตไม่ได้

               และถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบเมื่อเวลา ๐๗.๑๕ น. วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ รวมอายุ ๗๘ ปี ๓ เดือน ๗ วัน ๕๗ พรรษา

 

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ นิฏฺฐิตํ

“ภิกษุทั้งหลาย! น้ำในมหาสมุทรย่อมมีรสเดียวคือรสเค็ม ฉันใด

ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีรสเดียว คือวิมุตติรส”

(พุทธพจน์)

 

 

คำถามหลังการมรณภาพ

ทำไมหลวงพ่อไม่ใช้สมาธิหรือวิชาสะกดจิตรักษาโรคมะเร็ง

          “เราพิจารณาดูแล้ว ปอดของเรามันพรุนไปหมด ใช้การไม่ได้แล้ว”

          การตายมีสาเหตุอยู่ ๒ ประการคือ

                    ๑. หมดอายุขัย

                    ๒. สังขารร่างกายหมดสภาพ ใช้การไม่ได้

 

          โดยหลักฐานและคำพูดที่หลวงพ่อทิ้งไว้ให้พิจารณา พอสรุปได้ว่าการมรณภาพของท่านถึงพร้อมด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการ

 

          หลวงพ่อเป็นผู้ที่สนใจใฝ่รู้ในศาสตร์ต่าง ๆ หลายศาสตร์ ซึ่งท่านจะย้ำอยู่เสมอว่า ท่านศึกษาเพื่อพิสูจน์ความจริงให้หายข้องใจ เมื่อรู้แล้ว หายสงสัยแล้วก็เลิก เช่น วิชาหนังเหนียว หรือศึกษาเรื่องการสะกดจิตเพราะใกล้เคียงกับเรื่องสมาธิ แล้วนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค เป็นต้น

 

          วิชาโหราศาสตร์เป็นศาสตร์หนึ่งที่หลวงพ่อก็ได้ศึกษาอยู่บ้าง เคยมีผู้กราบเรียนถามท่านว่า

          “โหราศาสตร์หรือหมอดูนี่เชื่อได้หรือไม่ "

          ท่านตอบว่า

          “หมอดูก็คู่หมอเดา แต่วิชาโหราศาสตร์ก็เป็นวิชาที่มีความจริงของเขาอยู่ อย่างไรก็ตามคนที่ภาวนา หมอดูดูไม่แม่นหรอก”

 

          ถึงแม้ว่าหลวงพ่อพอจะมีความรู้เรื่องโหราศาสตร์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยเห็นท่านพยากรณ์หรือดูหมอให้ใครเลยสักครั้ง จึงเป็นที่แปลกใจที่เมื่อวันหนึ่ง ประมาณปี ๒๕๔๐ ท่านใช้ให้พระจัดตู้หนังสือในกุฏิ และได้พบเศษกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ซึ่งหลวงพ่อได้เขียนกราฟชีวิตของท่านไว้ โดยได้วงกลมล้อมรอบที่อายุ ๗๘ และเขียนพยากรณ์ไว้ว่า “เตรียมตัวได้ ชีวิตต้องสิ้นสุด”

กราฟชีวิต หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

        ต่อมาช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๑ แพทย์ได้วินิจฉัยและสรุปว่าหลวงพ่อเป็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ เมื่อทราบดังนั้นท่านได้ถามหาแร่สะกดจิตซึ่งเป็นมรดกที่ ดร.ไมเคิล พ่อบุญธรรมของท่านมอบไว้ให้ และท่านได้ให้ศิษย์คนหนึ่งไปแล้ว ศิษย์ผู้นั้นจึงได้นำแร่สะกดจิตดังกล่าวมาถวายคืนท่านทันที

 

          ช่วงนี้ท่านรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล พระที่มีหน้าที่อุปัฏฐากเล่าว่า หลวงพ่อจะเดินจงกรม นั่งสมาธิและเพ่งแร่สะกดจิต พิจารณาอาการ ๓๒ เพื่อใช้พลังจิตรักษาตนเองควบคู่ไปกับการรักษาของแพทย์อยู่เกือบตลอดเวลา แต่แล้วช่วงต้นเดือนเมษายน ๒๕๔๒ ท่านได้พูดว่า

 

          “เราพิจารณาดูแล้ว ปอดของเรามันพรุนไปหมด ใช้การไม่ได้แล้ว

 

          จนในที่สุดอาการของท่านมีแต่ทรงกับทรุดและถึงแก่การมรณภาพในที่สุดด้วยอายุ ๗๘ ปี ดังที่ท่านพยากรณ์ไว้

 

 

 

หลวงพ่อพูดถึงนิพพาน

v “คำพูดของพระพุทธองค์ที่ว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เห็นด้วยตนเอง” v

          นักธรรมที่เขาเถียงกันอยู่ คนหนึ่งว่า นิพพานเป็นอนัตตา อีกคนว่า พระนิพพานเป็นอัตตา คนที่เห็นว่า พระนิพพานเป็นอนัตตา เขาก็อาศัยหลักว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา

 

          ทีนี้คนที่เห็นว่าพระนิพพานเป็นอนัตตา ถ้าพระนิพพานเป็นอนัตตาแล้ว ใครจะเป็นผู้รู้ ใครจะเป็นผู้สอนพระนิพพานที่สอนกันอยู่อย่างนี้ พระนิพพานที่ถูกต้อง พระนิพพานไม่ใช่อนัตตา พระนิพพานไม่ใช่อัตตา แต่มันเป็นมิติหนึ่ง เป็นสภาพของสภาวะนั้น

 

          แม้แต่คำว่า “นิพพาน” ก็ไปหยิบยืมเอาคำพูดของกิเลสมาว่ากัน แต่ที่แท้จริง สิ่งที่เหนือการดับกิเลส มันไม่มีภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เลย เพราะฉะนั้น คำพูดของพระองค์ที่ว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” อันวิญญูชนพึงรู้เห็นด้วยตนเอง วิญญูคือผู้รู้วิเศษ ผู้รู้แจ้งเห็นจริง

 

          การแสดงธรรมก็คือการพิจารณาธรรม เพราะเราพูดแต่ละอย่าง ๆ เราก็มีสติกำหนดรู้ ๆ อยู่เหมือนกับการพิจารณาธรรม พอไปถึงจังหวะจิตมันวุบไปนิดหนึ่ง มันก็หมดกิเลส ตอนที่มันจะสำเร็จนี่ มันไม่ได้อยู่นานหรอก จิตนี่ มันแว้บไปนิดเดียวเท่านั้น พอแว้บไป อ้อ ! สิ่งนี้เป็นสิ่งนี้เท่านั้น จิตมันก็สว่างโพล่งขึ้น ก็หมดกิเลส

 

          เท่าที่มันมีประสบการณ์ที่ผ่านมานี่ เวลามันเป็นดูเหมือนว่ามันไม่มีขั้นตอน ที่ว่ามันไม่มีขั้นตอน มันไม่ได้กำหนดหมายว่า เวลานี้เราอยู่ขั้นไหน ตอนไหน เราจะรู้ว่ามันอยู่ขั้นไหน ตอนไหน ต่อเมื่อเราได้อ่านตำรา หรือได้ฟังโอวาทครูบาอาจารย์ มันตรงกับความเป็นของเรา เราจึงจะนับขั้นนับตอนได้ แต่เวลามันดำเนินอยู่มันไม่มีขั้นมีตอน

 

 

 

ธรรมะจากการมรณภาพ

v หลวงตาบัวให้ธรรม : ท่านเจ้าคุณพุธ เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ v

          เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เวลาประมาณ ๑๒ น. หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้มาร่วมงานศพหลวงพ่อ ท่านได้ยืนพิจารณาสรีระของหลวงพ่ออยู่นาน ได้เอามือกดบริเวณข้อมือของหลวงพ่อและจุดต่าง ๆ ๒ – ๓ จุด จากนั้นก็สรงน้ำศพ แล้วแสดงธรรมแก่ญาติโยมที่มาร่วมงานดังนี้

 

          ท่านเจ้าคุณพุธเป็นสักขีพยานแก่ความตายของเราทั้งหลาย ทุกรูป ทุกนามไม่มีใครเว้นไปได้เลย นี่คือพยานในวันนี้ ขอให้ดูกันให้ทั่วหน้าด้วยความคิดความอ่าน อย่าได้เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิง ไม่มีป่าช้า อันนี้ป่าช้า ดูเอา นี่ละป่าช้า ออกจากนี้ก็เผา ป่าช้ามีอยู่ทุกแห่งทุกหน แม้ในโรงพยาบาล ป่าช้าก็ยิ่งหนักยิ่งมาก เราอย่าเข้าใจว่าไม่มีป่าช้า มีอยู่ทุกแห่งทุกหน วันนี้ประกาศป่าช้าให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วถึงกัน อย่าได้ประมาทนอนใจ นี่ถึงเวลาตายแล้วนี่น่ะ ร่างกายนี่ตายหมดสภาพ แต่จิตใจไม่หมดสภาพ จิตใจ เป็นนักท่องเที่ยว ออกจากนี้แล้วจะไปสู่ร่างอื่นต่อไป ใครมีบาปขนบาปเข้าใส่หัวใจ ไฟเผาลงในนรกไม่สงสัย ไม่เป็นอื่น ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอก ไม่เคยโกหาสัตว์แม้ตัวเดียว ย่าว่าแต่โลกทั่ว ๆ ไปเลย สัตว์แม้ตัวเดียว พระพุทธเจ้าไม่เคยโกหก นี่... ใจของสัตว์นี้ไม่เคยตาย ไม่เคยฉิบหาย ให้พี่น้องทังหลายทราบเอาไว้ นี่... ตายอย่างนี้ คือร่างกายหมดสภาพนะ เรียกว่าเครื่องมือที่อาศัยในชาตินี้ หมดสภาพไปแล้ว แล้วจิตก็ดีดออกจากนี้ ใครมีบุญไปตามบุญ ใครมีบาป ไปตามบาป เป็นสถานที่ไป ที่อยู่ตลอดสายแห่งสายวัฏฏะจิตดวงนี้ ขอให้พี่น้องทั้งหลายคิดพิจารณาให้ดี อย่าเพลิดเพลินจนเกินเนื้อเกินตัว สร้างบาปสร้างกรรมด้วยความทะเยอทะยาน เวลาเราจนตรอกจนมุมแล้ว ไฟที่เผาเรานั่นน่ะ คือไฟที่เราสร้างกรรมมานั่นแหละ

 

          วันนี้เอาเจ้าคุณพุธเป็นสักขีพยานว่า จะต้องตายด้วยกันอย่างนี้ทุกคน ไม่มีใครเว้น แม้แต่รายเดียว เวลานี้ยังมีอยู่ให้รีบเร่งขวนขวายหาคุณงามความดี เกื้อหนุนหัวใจเราไว้ พร้อมแล้วตั้งแต่บัดนี้ อย่าไปสร้างเรื่องกรรมเป็นฟืนเป็นไฟ เป็นข้าศึกศัตรูต่อสัตว์โลกมาแต่กาลไหน ๆ ไม่เคยลดละ เพราะการสร้างกรรม สร้างตลอดเวลา ให้พากันพยายามละเว้นในสิ่งนี้ อย่าให้กิเลสพาอวดศักดาท้าทายพระพุทธเจ้าว่า บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นี้คือกองทัพกิเลสที่หนาแน่นบีบบังคับหูตาใจของสัตว์โลก ให้มองเห็นความจริงคือ บาป บุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพานที่ท่านแสดงไว้ เปรต ผี เต็มโลกธาตุ นี้คือความจริงมีมาดั้งเดิม ไม่ใช่มีมาวานนี้คืนนี้นะ มีมาดั้งเดิม สัตว์โลกทั้งหลายก็เดินไปตามนี้แหละ ตามสายกรรมสายเวรของตัวเองนี้แหละ

 

          ท่านเจ้าคุณพุธ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นคณาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ในที่ทุกแห่ง ท่านก็ได้มาสิ้นสุดยุติเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ซึ่งเหมือนกับโลกทั่วไป ถึงวาระแล้วอย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็หมายถึงตายเหมือนกันกับพวกเรานี้แหละ แต่คำว่านิพพาน หมายถึงคำว่าดับ ถึงเรืองกองทุกข์ทั้งมวลจะไม่มีปรากฏในนิพพานนี้อีกต่อไปเลย หลวงพ่อพุธกับหลวงตาสนิทกันมาตั้ง ๔๐ กว่าปีแล้ว คุ้นกันมานาน ท่านก็ไปแล้ววันนี้ เราก็จะตามท่านไปวันหลังแน่ ๆ ไม่สงสัย

(พิธีรดน้ำศพพระราชทานหลวงพ่อพุธ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒)

หน้าก่อนนี้

จบบริบูรณ์ 


แก้ไขล่าสุด ( วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2012 เวลา 04:17 น. )
 
 

Joomla 1.5 Templates by Joomlashack