ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 10 พิมพ์
เขียนโดย Administrator   
วันอังคารที่ 06 มีนาคม 2012 เวลา 02:13 น.

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย 

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๑๐

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

 

จิตอรหันต์ - จิตปุถุชน

พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระปุถุชนโศกเศร้าเสียใจ พระอรหันต์ได้ธรรมสังเวช

 

          พระอรหันต์ก็ยังร้องไห้ได้ การร้องไห้มันเป็นกิริยาของกายต่างหาก ตัวร้องไห้มันก็ร้องไป ตัวที่นิ่งเฉยอยู่มันก็นิ่ง... พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระปุถุชนโศกเศร้าเสียใจ พระอรหันต์ได้ธรรมสังเวช

 

          ธรรมสังเวชนี้แหละมันทำให้น้ำตาไหล ไม่ใช่ว่าพอสำเร็จอรหันต์แล้วมันจะไม่มีอะไร มันก็เหมือนกับปุถุชนธรรมดานี้แหละแต่สิ่งที่ทำให้ท่านเกิดกิเลสเมื่อก่อนนี้ มันหมดไป ความตื้นตัน ความปกติต่าง ๆ มันเป็นองค์ประกอบของสมาธิ มันก็ต้องมีอยู่เป็นเรื่องธรรมดา

 

          “หลวงปู่โกรธเป็นไหม”

 

          “โกรธเป็น แต่ไม่เอา”

 

          อันนี้คือคำตอบหลวงปู่ดูลย์ ก็มันแสดงความรู้สึกขึ้นมาเฉย ๆ ว่า โกรธแล้วท่านก็ไม่เอา

 

          หลวงพ่อก็เคยร้องไห้มาแล้ว ไปสวดมนต์ในวัง พอไปถึงแก่งคอย ก็ไปนึกว่าพ่อตายอยู่ตรงนั้น ไหนจะลองกำหนดจิตอุทิศส่วนกุศลให้พ่อสักหน่อย พอกำหนดไปพั๊บ มองไปข้างหน้าสายตามันพร่า แล้วก็เห็นตาแก่คนหนึ่งแบกเด็กน้อยลอยผ่านหน้าไป ที่นี้พอลับสายตาไปจิตก็มานึกว่า พ่อแบกเอามาตั้งแต่เด็ก แล้วมันก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นขึ้นมาทันที คนที่นั่งมาในรถเขาก็ถามว่า หลวงพ่อเป็นอะไร ๆ ก็โบกมือ เฉย ๆ เดี๋ยวก็รู้ พออาการอย่างนั้นมันหายไป ก็เล่าให้เขาฟัง

 

          ปีติมันเกิดจากกายต่างหาก อย่างสมมุติว่าเรามีเรื่องขำ เราหัวเราะจนไส้ขดไส้แข็ง เราเมื่อยเกือบตาย เราไม่อยากหัวเราะ แต่มันก็อดไม่ได้ นั่นคือความเป็นเองของร่างกาย อันนี้มันได้หลักมาว่า ภายในตัวของเรานี้ สมองเป็นผู้สั่งการ กองบัญชาการในสมองที่มันส่งออกมานี้ ให้ร่างกายมันเตี้ย ให้ร่างกายมันโต ให้ร่างกายมันสูงโย่ง อันนี้เป็นเรื่องของสมองทั้งนั้น คำสั่งของสมองอันนี้หรือจิตดวงนี้ ตามหลักของการสะกดจิตเขาเรียกว่า จิตอิสระ จิตอิสระดวงนี้จะคอยบังคับดูแลและใช้เครื่องจักรกลไกต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานแก่เราอย่างตรงไปตรงมา

 

 

          อาการปีตินี้เป็นอาการที่จิตดื่มรสพระสัทธรรม มันเหมือนกับว่า เราอยากได้อะไรมาก ๆ พอได้สมประสงค์ ก็เกิดปีติเหมือนกันแต่ทีนี้ สมมติว่า ผู้ที่เป็นพระอรหันต์จริง ๆ นี้ เวลาท่านกำหนดจิต รู้อารมณ์จิต มันก็ปรุงแต่งเหมือนคนธรรมดา ทีนี้ภายในสมาธิ มันก็เกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าท่านรู้เรื่องอดีตชาติ ท่านก็แสดงอาการร้องไห้ ร้องไห้ในสมาธิ แต่ร้องไห้น้ำตาไม่ออก อย่างคนที่จิตยังไม่พ้นกิเลส พอได้นิมิตว่าชาติก่อนเราได้ไปเกิดเป็นอันนั้น ๆ ได้ไปทะเลาะตบต่อยตีกันที่ตรงนั้น พอรู้สึกอย่างนั้นก็ลุกขึ้นมากระโดดโขมงโฉงเฉง ทีนี้ความรู้ของพระอรหันต์นี้ท่านรู้ว่าชาตินั้น ท่านเป็นอย่างนั้น ได้ทะเลาะเบาะแว้งกับคนนั้นคนนี้ มันก็แสดงอาการโกรธเคียดขึ้นมา แต่ความโกรธความเคียดกับจิตของท่านมันแยกกันไปคนละส่วน เหมือน ๆ กับบางครั้งที่จิตของเรามีอารมณ์เกิดขึ้น ๆ แต่มันเป็นกลางเฉย สิ่งรู้เป็นแต่เพียงอารมณ์จิต แล้วตัวเองไม่ได้ไปสวมสอดเข้าในเรื่องนั้น มันแยกเป็นคนละส่วน ทีนี้ผู้ที่รู้ยังไม่ถึงแก่นพอรู้เข้ามาพั๊บ ก็สำคัญว่าตนเองอยู่ในปัจจุบันนั้น

 

 

 

หลวงปู่แหวนสอนมนุษย์

คุณแน่ใจหรือคุณเป็นมนุษย์สมบูรณ์ทุกลมหายใจ

          เนื่องจากมีผู้ไปถามหลวงปู่แหวนว่า

          ในปัจจุบันนี้ สัตว์มันมาเกิดเป็นมนุษย์มากมายจนล้นแผ่นดิน เข้าใจว่าสัตว์ทั้งหลายคงบำเพ็ญศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์บริบูรณ์กันมากละซิ มันจึงมาเกิดมากมายนักหนา

 

          หลวงปู่จึงให้คำตอบว่า

 

          คุณแน่ใจไหมว่าคุณเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบทุกลมหายใจ

 

          แล้วท่านตอบเป็นเชิงตลก ๆ ว่า

 

          เวลานี้มนุษย์ทั้งหลายไปถากถางป่าให้ราพณาสูร ไม่มีต้นไม้ ไม่มีป่ามีดงแล้ว ไปจับพ่อแม่ปู่ย่าตายายของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ไปฆ่าแกงกินหมด สัตว์เดรัจฉานก็ไม่มีที่เกิด มันก็มาชิงเกิดกับมนุษย์

 

          แล้วมันมาเกิดกับมนุษย์ได้อย่างไร

 

          หลวงปู่ท่านก็เทศน์ต่อไปว่า

 

          คุณแน่ใจหรือคุณเป็นมนุษย์สมบูรณ์ทุกลมหายใจ ในบางครั้งเวลาคุณเกิดกิเลสโลภโมโทสันขึ้นมา คุณอยากฆ่าอยากแกงมีไหม

 

          คนถามก็ว่า มีครับ

 

          นั่นแหละสัตว์เดรัจฉานมันฉวยโอกาสมาเกิดในจังหวะนั้น เพราะในขณะที่คุณคิดอยากฆ่าอยากแกง จิตของคุณลดต่ำลงมาสัตว์เดรัจฉานมันก็ชิงมาเกิดในขณะนั้น

 

 

 

หลักพิจารณาความเป็นมนุษย์

ช่วงใดใจของเรามีหิริ ความละอายบาป โอตตัปปะ กลัวสะดุ้งต่อบาป

ใจของเราเป็นเทวดา แต่กายของเราเป็นมนุษย์

          เรามีหลักที่จะพิจารณาตัวเองใน ๓ หลัก ๔ หลัก ถ้าหากว่าในช่วงใดเรามีกิเลสโลภโมโทสันขึ้นมา หมายถึงเรามีความโกรธจัด อยากจะฆ่าใคร ฆ่า อยากจะแกงใคร แกง อยากจะด่าทอเสียดสีใคร ว่ากันให้ตามอำเภอใจ ในช่วงนั้นกายของเราเป็นมนุษย์ แต่ใจของเราเป็นสิ่งที่ลดต่ำลงไปกว่านั้น คือลดต่ำกว่าความเป็นมนุษย์

 

          ถ้าโมโหไปเกิดฆ่าสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมา เปอร์เซ็นต์แห่งความเป็นมนุษย์ ลดต่ำลงไปจะถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะศีลห้าขาด

 

       ขณะใดที่คุณเกิดความโลภมาก คุณไปคิดลักขโมยจี้ปล้นฉ้อโกง ทำลายศีลข้ออทินนาทาน เปอร์เซ็นต์แห่งความเป็นมนุษย์ก็ลดลงไปยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ความเป็นมนุษย์ก็ไม่สมบูรณ สัตว์เดรัจฉานมันก็มาชิงเกิดในช่วงนี้ เพราะจิตใจของเราอยู่ในระดับเท่า ๆ กัน ในเมื่อสิ่งใดมันมีระดับเท่า ๆ กัน มันก็เข้าขากันได้ อันนี้ในขณะนั้นก็แสดงว่า กายของเราเป็นมนุษย์ แต่ขอโทษ ใจของเรามันกลายเป็นสัตว์เดรัจฉานเสียแล้ว

 

          แต่ว่าในขณะใดที่ใจของเรานี้มันมีศีลธรรม มีความเมตตาปรานี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กว้างขวาง ในขณะนั้นใจของเราเป็นมนุษย์ กายของเราก็เป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีธรรม มีศีล ๕ มีกรรมบถ ๑๐ มีความเมตตาปรานี

 

          ถ้าหากว่าช่วงใดใจของเรามี หิริ ความละอายบาป โอตตัปปะ กลัวสะดุ้งต่อบาป ไม่กล้าที่จะทำบาปทั้งในที่ลับที่แจ้ง ในขณะนั้นใจของเราเป็นเทวดา แต่กายของเราเป็นมนุษย์

 

 

          หากว่าในขณะใด ที่เรามาบำเพ็ญสมาธิภาวนา ทำให้จิตมีสมาธิสงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับหรือมีสมาธิแน่วแน่ รู้ธรรมเห็นธรรม ในช่วงนั้นกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราก็เป็นพระพรหม พระพรหมคือผู้มีใจสว่างไสวเบิกบานแช่มชื่น

 

 

          ถ้าในอันดับนั้นใจของเรานี้ ละกิเลสบาปกรรม ละสังโยชน์คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ลีลัพพตปรามาสได้เด็ดขาด มีความรักตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย ไม่คลอนแคลน สามารถสละชีวิตเพื่อบูชาข้อวัตรปฏิบัติ ตามหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไม่ย่อท้อ ในช่วงนั้นกายของเราเป็นมนุษย์ แต่ใจของเรามันกลายเป็นพระ เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบัน

 

 

          แต่ถ้าหากว่าในขณะใด จิตใจของเรามันเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ไม่เอาไหน ประโยชน์ตนก็ไม่เอา ประโยชน์ท่านก็ไม่แลเหลียว ปล่อยชีวิตของตัวเองให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าปราศจากประโยชน์ ในขณะนั้น กายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นเปรต เปตะ แปลว่า ผู้ละ และทิ้งซึ่งประโยชน์ทั้งปวง

 

          อันนี้คือหลักที่เราจะยึดเป็นหลักพิจารณาตัวเอง แต่ผู้ฟังบางท่านอาจจะนึกว่า พระองค์นี้เทศน์แล้วเอาเรื่องมนุษย์ไปเปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉานอย่างนั้นอย่างนี้ ทีนี้ธรรมะของจริงนี่ต้องพูดตามความเป็นจริง

 

 

หลวงปู่แหวนสอนภาวนา

เจ้าคุณฯ อย่าไปกำหนดอะไรทั้งสิ้น กำหนดสติอย่างเดียว

 

          หลวงปู่แหวน ตอนไปกราบท่าน

 

          “เจ้าคุณฯ [พระภาวนาพิศาลเถร (พุธ ฐานิโย)] อย่าไปกำหนดอะไรทั้งสิ้น กำหนดสติอย่างเดียว สติมันเกิดที่จิต สมาธิมันเกิดที่จิต ความช่วยความดีมันเกิดที่จิต อย่าไปเที่ยวดูที่อื่นดูที่จิตอย่างเดียว”

 

          มันไม่นอกตำราอะไรเลย เมื่อใจชอบก่อน การพูด การจา การคิด มันก็ชอบ เมื่อใจสะอาด การทำ การพูด การคิด มันก็สะอาด ท่านก็บอกว่าจะไปกังวลอะไร ใช้จิตอย่างเดียว

 

 

พบหลวงตามหาบัวครั้งแรก (๒๕๑๘)

ปลงผมให้หน่อย นั่นแหละเป็นการพบกันครั้งแรก

          หลวงตามหาบัวนี้รู้จักกันตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้ากัน ที่ไปรู้จักกันจริงจังนั้น ที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เขาไปตรวจนักธรรมที่วัดโพธิสมภรณ์ แล้วก็นิมนต์ท่านไปเทศน์ เราก็ไปฟังเทศน์ แล้ววันหลังมาก็เป็นวันโกน ท่านถือมีดโกน ถือผ้าอาบน้ำพาดข้อศอก เดิน.. ในใจมันฉุกคิดขึ้นมาว่า อุ๊ย ! ท่านอาจารย์องค์นี้ต้องเดินหาเรา

 

          พอเสร็จแล้วก็ลุกขึ้นยืน พอยืนขึ้นท่านก็เดินเข้ามาหา พอมาถึงท่านบอกว่า

          “ปลงผมให้หน่อย”

 

          นั่นแหละเป็นการพบกันครั้งแรก

          เราก็ “สาธุ”  ทันทีเลย

 

          ในขณะที่ปลงผมอยู่นั่น ท่านถาม “เมื่อคืนนี้ฟังเทศน์ไหม”

 

          ก็เลยเรียนว่า “ฟังอยู่ แต่ไม่ได้ขึ้นไปบนศาลา นั่งฟังอยู่ที่โคนต้นโพธิ์”

 

          “ได้ความว่าไง”

 

          “ได้ความว่าภูมิจิตไม่ถึงคำเทศน์ของท่านอาจารย์ แต่ฟังรู้เรื่องหมด แต่ว่าชั้นแห่งภูมิจิตไม่ถึง”

 

          แล้วเราก็ถามท่านว่า “ทำไมท่านอาจารย์เทศน์เร็วนัก”

 

          “ไม่เร็วได้หรือ ธรรมะมันเกิด ไม่รีบพูดเดี๋ยวลืม ประเดี๋ยวเราก็จะเจอหรอกน่า ไม่ต้องสงสัย”

          ก็ได้คุยกันแค่นั้น

 

 

ถามปัญหาหลวงตามหาบัว

เมื่อจิตเข้าสมาธิร่างกายตัวตนหายหมด

 

          หลังจากที่หลวงปู่ฝั้นสิ้นไปแล้ว ก็มีแต่ไปขอธรรมะ หลวงตามหาบัว หลวงปู่เทสก์

 

          คำสอนของหลวงตาบัวที่จับใจ..ของหลวงตาบัวก็คล้าย ๆ กันกับหลวงปู่แหวน แล้วมาครั้งสุดท้าย ที่เราไปกราบท่านไง (กันยายน ๒๕๓๖) ที่หลวงพ่อถามท่านว่า

 

          “หลวงตา จิตเมื่อมันเข้าสมาธิที่ถึงขนาดที่ร่างกายตัวตนหายไปหมด มันสามารถรู้เห็นอะไรได้ไหม”

 

          “ไม่ตอบ”

 

          “ไม่ตอบก็แสดงว่าหลวงตายอมรับ”

 

          ไม่ตอบแล้วท่านก็เทศน์ว่า

 

          “สมัยที่เราอยู่ปรนนิบัติหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์อะไรเราไม่สนใจ เรากำหนดจิตรู้จิตของเราอย่างเดียว เรามีหูท่านเทศน์ เราก็ได้ยิน จิตเราก็รู้”

          สรุปลงแล้วก็คือจี้เอาที่จิตเหมือนหลวงปู่แหวน ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่

 

 

มิติแห่งจิต

มิติหนึ่งคิดไม่หยุด อักมิติหนึ่งเฝ้าดู อีกมิติหนึ่งมานั่งเฉยอยู่

          เรื่องนี้ไปตรงกับหนังสือ หลวงตามหาบัว ที่ตั้งชื่อว่า ปัญญาอบรมสมาธิ ที่นี้ในขณะจิตของเรามันเกิดความคิด ถ้าเราไม่ฝืน ปล่อยให้ไปตามธรรมชาติของมัน ถ้าความคิดที่มันเกิดขึ้นมาเองนี้ ความรู้ตัวนี้เราไม่ได้ตั้งใจ มันจะรู้พร้อม ๆ ๆ ๆ กันไป

 

          ทีนี้ถ้าหากว่าสมาธิมีพลังงาน ในขณะนั้นความคิดมันจะแยกออกไปอีกส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคล้าย ๆ กับว่ามีผู้เฝ้าดูงาน ถ้ากายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ เราจะรู้สึกว่าจิตส่วนหนึ่งมันเข้ามานิ่งอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย มันกลายเป็นสามมิติ มิติหนึ่งคิดไม่หยุด อีกมิติหนึ่งเฝ้าดู อีกมิติหนึ่งมานิ่งเฉยอยู่

 

          ตัวที่นิ่งเฉยอยู่นั้น เป็นจิตใต้สำนึก ตัวคอยเก็บผลงาน ตัวที่มันคิดไม่หยุดยั้งแล้วก็รั้งไม่อยู่ในตัวนั้นเป็นจิตเหนือสำนึก ซึ่งมันเกิดขึ้นมาเองโดยพลังของสมาธิ นี่ธรรมชาติของจิตเมื่อมันเกิดมีปัญญาแล้วมันจะเป็นอย่างนี้

 

          อย่างบางทีนี่เราตั้งใจพิจารณากายคตาสติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ความตั้งใจในการพิจารณาของเราก็รู้สึกว่ามีอยู่ สติก็รู้สึกว่าเรารู้พร้อมอยู่ ทั้ง ๆ ที่จิตยังไม่สงบถึงขนาดความเป็นเองโดยอัตโนมัติ บางครั้งมันก็มีการแยกส่วนของมัน ไอ้ตัวที่มานั่งอยู่ในท่ามกลางก็มีอยู่ ตัวที่พิจารณาก็พิจารณาไป ตัวที่เฝ้าดูงานก็เฝ้าดูไป มันจะเป็นของมันอย่างนี้

 

          ทีนี้ปัญหาที่ว่า เราจะแยกจิตจากอารมณ์ ให้อารมณ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง จิตก็เป็นส่วนหนึ่ง เราจะทำอย่างไร ไม่มีทางที่จะทำได้ นอกจากว่าเรามีสติรู้อารมณ์จิตอยู่ในปัจจุบัน พอถึงขั้นตอนแล้วจิตเขาจะแยกของเขาเอง เราจะไปตั้งใจแยกมันไม่มีทาง ต้องให้มันเกิดสมาธิถึงขนาดที่เป็นอัตโนมัติโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

 

          ทุกสิ่งทุกอย่างมันพร้อมปฏิวัติตัวไปเองโดยอัตโนมัติ นั่นแหละมันจึงจะแยก ฐีติภูตัง ของ หลวงปู่มั่น นั่นแหละคือจุดที่จิตกับอารมณ์แยกจากกัน ในลักษณะอย่างที่ว่านี้ จิตสงบ นิ่ง เด่น สว่างไสวอยู่ สิ่งรู้ของจิตทั้งหลายนี้มันมาวนรอบจิตอยู่ แต่พอมาถึงความสว่างของจิตแล้วมันตกไป ๆ เหมือนแมลงบินเข้ากองไฟ

 

 

 

สมเด็จพระสังฆราชถามปัญหา

พระอรหันต์นิพพานดับไปแล้ว เอาอะไรมาคุยกับท่านอาจารย์มั่น


          แล้วอีกอันหนึ่ง ในหนังสือของ หลวงตามหาบัว เขียนประวัติของ หลวงปู่มั่น ตอนที่ว่า หลวงปู่มั่นคุยกับพระพุทธเจ้า คุยกับพระอรหันต์ ซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายนำไปวิจารณ์กัน ทั้งข่าวหนังสือพิมพ์ ทั้งหนังสือธรรมะ ท่านทั้งหลายลงความเห็นว่า พระพุทธเจ้า พระอรหันต์นิพพานดับไปแล้ว เอาอะไรมาคุยกับท่านอาจารย์มั่น สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันท่านก็เคยถาม ไปเฝ้าท่าน ท่านก็ถามว่า

          “มาแล้วก็ดี สงสัยปัญหาเรื่องหลวงปู่มั่น ที่อาจารย์มหาบัวเขียนว่า หลวงปู่มั่นคุยกับพระพุทธเจ้า พระอรหันต์นี่ ในหลักตำราก็พูดถึงพระนิพพานว่าดับไปแล้ว เอาอะไรมาคุยกับท่านอาจารย์มั่น”

 

          ก็เรียนท่านว่า

 

         “มันเป็นจิตรู้ของท่านอาจารย์มั่น ในเมื่อจิตสัมผัสถึงคุณธรรมขั้นสูงแล้ว ถ้าเป็นภูมิของพระอริยสงฆ์ ก็ปรากฏเป็นภาพพระอริยสงฆ์ขึ้น ถ้าจิตถึงพระพุทธเจ้า กับพระอรหันต์ แต่ที่แท้จริงพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไม่ได้มาหรอก เป็นจิตรู้ของท่านอาจารย์มั่น”

          “อ้อ..มันเป็นอย่างนั้นหรือ”

 

          ที่นี้อีกปัญหาหนึ่งที่ท่านถามว่า

          “ฐีติภูตัง ของหลวงปู่มั่นนี้หมายความว่าอย่างไร”

          เรียนท่านว่า

 

          “ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา

 

           ธมฺมฏฺฐิตตา เพราะความที่จิตสงบ นิ่ง เด่น สว่างไสวอยู่  ธมฺมนิยามตา หมายถึงอารมณ์จิตที่ละเอียดอันเป็นสภาวะอยู่หนึ่ง มาปรากฏให้จิตรู้อยู่ตลอดเวลา มันมีลักษณะเหมือนว่าสิ่งรู้ก็อยู่ประเภทหนึ่ง ตัว ฐีติ นี้มันก็นิ่งเด่นของมันอยู่ หมายถึงในขณะที่จิตกับอารมณ์มันแยกออกจากกันได้แล้ว ทีนี้เพราะความรู้ทั้งนี้เกิดขึ้น จิตไม่มีอุปาทานยึดมั่นในความรู้นั้น มันจึงปรากฏว่าสิ่งรู้ทั้งหลายนี้เป็นอันหนึ่ง จิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้ว มันแยกออกจากจิตได้ มันเป็นตัว วิสังขาร แต่ถ้ารู้แล้วจิตยังสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ มันเป็นตัว สังขาร มันเป็น สังขารา อนิจจา ฐีติภูตัง ของหลวงปู่มั่นนี้เป็นวิสังขาร จิตรู้แล้วไม่ยึดสิ่งรู้ มีแต่ปล่อยวางลูกเดียว”

          เพราะฉะนั้น นักภาวนาทั้งหลายถ้าทำสมาธิถึงขนาดที่มองเห็นความตายของตัวเอง จะหายสงสัยในธรรมวินัยทั้งหมด ถึงไม่สำเร็จอรหันต์ก็หายสงสัย

 

 

 

พระพุทธเจ้ามาคุยกับพระอาจารย์มั่นได้ไหม

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม

         พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านไม่มายุ่งกับใครหรอก เพราะท่านนิพพานไปแล้ว ร่างกายตัวตนท่านก็ไม่มี ท่านจะเอากายที่ไหนมาปรากฏให้เรารู้เราเห็น ท่านจะเอาปากที่ไหนมาคุยให้เราฟัง แต่ที่เป็นไปได้เช่นนั้น เพราะเป็นจิตรู้ของผู้ทำสมาธิภาวนาไปถึงขั้นหนึ่ง ถึงจิตสัมผัสธรรม ซึ่งทำจิตให้เป็นพุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทีนี้จิตดวงนี้ก็แสดงมโนภาพขึ้นมาให้เราเห็นได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเราเรียกว่านิมิตนั่นแหละ

 

          ที่ว่าเป็นนิมิต บางทีเห็นเป็นพระพุทธเจ้า พระสาวกเดินเข้ามาหาเรา หรือบางทีก็มายืนเทศน์สอนเราอยู่ แต่แท้ที่จริงไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกเหล่านั้นเดินมาเทศน์หรือมานั่งเทศน์ให้เราฟัง แต่ว่าจิตรู้ของเราเองที่มันถึงธรรมแล้วนี้ สารพัดที่เขาจะแสดงปรากฏการณ์ให้เรารู้เราเห็น เพื่อความมั่นใจในความรู้ของตัวเอง คล้าย ๆ กับว่าเขาจะสร้างมโนภาพ สร้างนิมิตขึ้นมาเสริมศรัทธาที่เชื่อมั่นอยู่แล้วให้มั่นคงยิ่งขึ้น

 

          นิมิตที่ปรากฏแก่ท่านพระอาจารย์มั่นนั้นน่ะ มันเป็นไปได้ในภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระวักกลิว่า  “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ”  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นถือว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นถือว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นเราเห็นธรรม ผู้นั้นเชื่อว่าเห็นพระสงฆ์ ผู้ใดเห็นธรรมเห็นพระสงฆ์ ผู้นั้นเชื่อว่าเห็นเรา

 

          เพราะฉะนั้น ในเมื่อท่านอาจารย์มั่นท่านมีจิตของท่านบรรลุถึงคุณธรรมที่ทำให้จิตเป็นพุทธะ เป็นจิตพุทธะแล้วนี่ ก็สารพัดที่จิตของท่านจะสร้างมโนภาพขึ้นมาให้ท่านรู้ท่านเห็น อันนี้เป็นภูมิรู้ภูมิธรรมของท่านเอง

 

 

 

กราบอาจารย์ฝั้นครั้งสุดท้าย

(๑ ม.ค. ๒๐)

 หมดรุ่นของพวกเธอแล้ว พระธุดงคกรรมฐานมันจะไม่มีเหลือ

          ครั้งสุดท้ายที่ได้เข้ากราบท่านอาจารย์ฝั้น ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ยังป่วยมีอาการร่อแร่เต็มที่ ก่อนหน้าที่ท่านจะสิ้นใจประมาณ ๓ วัน พอไปกราบแล้วพยายามที่จะไม่ให้ท่านรู้สึกตัว แต่แล้วท่านก็สั่งพระเวรที่เฝ้าปฏิบัติอยู่ให้เอาท่านลุกขึ้น พระก็เรียนท่านว่า

 

          “หมอไม่ให้ลุก”

 

          ท่านก็ย้ำว่า “เอาลุก ๆ”

 

          ในเมื่อลุกขึ้นมาแล้ว แทนที่ท่านจะพูดอะไร มือไม้ที่ยังสั่นเทาอยู่นั่นแหละ อุตส่าห์พยายามพยุงลุกขึ้นมาแล้วก็ชี้หน้าผู้ไปกราบแล้วก็บอกว่า

 

          “นี่อะไร ครูบาอาจารย์ก็ถอดแบบสั่งสอนให้หมดแล้ว สามารถทำได้ดีด้วย แต่เสียอย่างเดียวมันยังขี้เกียจอยู่ ต่อไปเพิ่มความขยันให้มากขึ้น เพราะเมื่อมันหมดรุ่นของพวกเธอแล้ว พระธุดงคกรรมฐานมันจะไม่มีเหลือ”

 

          อันนี้ก็เป็นโอวาทของท่านอาจารย์ฝั้นซึ่งท่านประทานไว้เป็นครั้งสุดท้าย

 

   อันนี้ก็ใคร่ขอฝากเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายเอาไปพิจารณาเป็นการบ้าน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับการประพฤติปฏิบัติของเราในสมัยปัจจุบันนี้ว่า เรากำลังเดินหน้าเข้าคลองหรือว่ากำลังถอยหลังเข้าคลอง การธุดงควัตรต่าง ๆ เรามีความเคร่งครัดเพียงใดแค่ไหนอย่างไร

 

 

 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ชม

เจ้าคุณพุธนี้ เขาเทศน์อันดับของสมาธิได้ละเอียดลออดี

         หลวงพ่อไปเทศน์ที่วัดอโศการามครั้งแรก หลวงปู่อ่อนยังอยู่ตอนนั้น ตื่นเช้ามามีคนเขานิมนต์ไปฉันในบ้าน ท่านก็เอาสำนวนการเทศน์ของหลวงพ่อไปเทศน์ให้โยมฟัง พอไปถึงวัดท่านก็กล่าวชมว่า..

 

          “เจ้าคุณพุธนี้ เขาเทศน์อันดับของสมาธิได้ละเอียดลออดี”

 

          ลูกศิษย์ของหลวงปู่อ่อนว่าไง..“ท่านเป็นมหา ท่านก็เทศน์ได้ชิ ท่านเรียนมาแล้ว”

 

          หลวงปู่อ่อนก็ไม่รู้จะว่ายังไง

 

          “เราก็เป็นนักธรรมเอกเหมือนกันทำไมว่าอย่างเขาไม่ได้ล่ะ”

 

          นี้มันเป็นอย่างนี้

 

         พระสงฆ์ไม่ค่อยเห็นความดีของครูบาอาจารย์และหมู่คณะของตัวเอง มันเพราะอะไร เพราะความอิจฉาตาร้อน พระดัง ๆ ทุกวันนี้มีแต่ญาติโยมสนับสนุนส่งเสริม ถ้าหากว่าพระองค์ใดมีญาติมีโยมไปไหว้มาก ๆ มีชื่อมีเสียงขึ้นมา เข้ามาแล้ว วัดโน้นก็มาขอผ้าป่า วัดนี้มาขอกฐิน โรงเรียนโน้นมาขอโน่น โรงเรียนนี้มาขอนี่ เออ..ถ้าโรงเรียน โรงพยาบาลมาขอนี่พอว่า เพราะว่าพวกคฤหัสถ์เขาไม่มีใครจะศรัทธากับเขา เขามาขอเอา มันก็ชอบด้วยเหตุผล เขาเห็นว่าเราพอจะช่วยเขาได้ แต่ว่าพระเจ้าพระสงฆ์นี้ความดีไม่สร้าง แต่กลายเป็นคนชิงสุกก่อนห่าม เห็นหลวงพ่อคูณสร้างวิหารได้ใหญ่โตก็อยากจะไปสร้างอย่างหลวงพ่อคูณ ตัวไปทำเอง บารมีมันไม่ถึง มันก็ล้มทับส้นตาย

 

 

สัตตาหะอุปัฏฐากพระอาจารย์ทอง อโสโก

ในพรรษานั้นจำสัตตาหะไปปรนนิบัติตลอดพรรษา


          เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย พระภิกษุสงฆ์อาพาธ เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรในอาวาสนั้นต้องเอาใจใส่ดูแลรักษา แต่เท่าที่สังเกตมา ก็รู้สึกว่า ท่านผู้ใดไม่มีบุญบารมี เป็นหลวงพ่อ หลวงตา ไม่มีบุญบารมีมากถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยลง ตกอยู่ในตาลำบาก จะต้องพึ่งพาอาศัยญาติโยม

 

 

          ยกตัวอย่างอาจารย์องค์หนึ่ง เจ็บป่วยมาจากนครพนม ชื่อ อาจารย์ทอง อโสโก เป็นอาจารย์ผู้ทำกิจพระศาสนา ทำกิจธุระฟื้นฟูหมู่คณะ เป็นมือขวาของท่านอาจารย์เสาร์เหมือนกัน ภายหลังมาท่านป่วยอาพาธลงไป ทีแรกก็อาพาธอยู่ที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ภายหลังมา ญาติโยมก็นำมาที่วัดป่าบ้านสวนวัว อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

 

          ในขณะที่ท่านมาถึง ก็มีพระธุดงคกรรมฐานเฝ้าวัดอยู่นั้น ๗-๘ องค์ พออยู่มาไม่ถึงอาทิตย์ ครูบาอาจารย์ผู้เจ็บป่วยมาพึ่งอาศัยบุญบารมีของพระคุณเจ้าเหล่านั้น ท่านจะเห็นว่าการอุปัฏฐากพระภิกษุไข้เป็นการลำบากเป็นภาระหรืออย่างไรไม่ทราบ พระเณรทั้งนั้น สะพายบาตรแบกกลดหนีไปหมด ทิ้งพระอาจารย์ทอง ซึ่งอาพาธเป็นโรคอัมพาต ให้นอนแอ้งแม้งอยู่ในวัดป่าบ้านสวนวัวเพียงองค์เดียว

 

          ในที่สุดต้องเดือดร้อนถึงเจ้าคุณพระชินวงศาจารย์ (หลวงพ่อพูดถึงตัวท่านเอง) ในพรรษานั้นจำสัตตาหะไปปรนนิบัติตลอดพรรษา ในพรรษานี้ ๙๐ วัน มีเวลาได้นอนวัดเพียง ๑๒ วัน เท่านั้นเอง นอกจากนั้นไปจำพรรษาที่อื่น จนกระทั่งท่านอาจารย์องค์นี้ถึงแก่มรณภาพลง ไปจัดการศพเสร็จจึงได้หมดภาระ อันนี้ก็เป็นสิ่งบกพร่องอันหนึ่งสำหรับลูกศิษย์นักปฏิบัติของเรา

 

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นข้อวินัยอันเคร่งครัด ภิกษุสงฆ์อาพาธเกิดขึ้นในอาวาสใด ต้องเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรในอาวาสนั้น จะต้องอุปัฏฐากดูแลรักษา หาหยูกหายา หาหมอมาพยาบาลรักษา ถ้าภิกษุรูปใด ในเมื่อเห็นสหธรรมิกของตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วยอาพาธลง ถ้าหากคิดว่ามันจะเป็นภาระยุ่งยาก รีบหนีออกจากอาวาสนั้นเสีย พระวินัยท่านปรับอาบัติ เพราะขาดความเอื้อเฟื้อไม่เอาใจใส่

 

          แม้ในสมัยที่พระพุทธเจ้ากำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีพระภิกษุองค์หนึ่งมาคิดว่า เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใด เราจะรีบเร่งปฏิบัติเพื่อให้ได้อรหันต์ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์และพระปุถุชนทั้งนั้นซึ่งสนใจในการที่จะปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นว่านวกภิกษุองค์นั้นไม่สนใจกับกิจการของสงฆ์ จึงได้ยกเป็นอธิกรณ์ขึ้นมา ถือว่าท่านทำผิด แล้วก็นำข้อความเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า

             สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เรียกมารับสั่งถามว่า

           “เธอปฏิบัติเช่นนั้นจริงหรือ มีเหตุผลอันใด”

          พระภิกษุใหม่องค์นั้นก็ทูลว่า

 

          “ข้าพระองค์ได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่ข้าพระองค์ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลใด ๆ ทั้งสิ้น จึงตัดสินใจเด็ดเดี่ยว จะบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อให้ได้อรหันต์มาบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะเสด็จปรินิพพานจากไปเสีย”

 

          ในเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงทราบเช่นนั้น ก็ยกย่องสรรเสริญพระภิกษุองค์นั้นว่า

 

          “ดีแล้วภิกษุ ขอให้พวกเธอทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ฟังเอาตัวอย่างพระองค์นี้แล้วเธอจะได้ดิบได้ดี”

 

          นี่ ในสังคมพระอรหันต์ ต่อหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านก็ยังยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นเป็นอธิกรณ์ที่สำคัญ

 

          ทีนี้ถ้าหากในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าหากสหธรรมิกไปทอดทิ้งพระภิกษุอาพาธโดยไม่เอาใจใส่อุปัฏฐากดูแลรักษาพยาบาล เราสมณศากยบุตรจะหันหน้าไปพึ่งพาอาศัยบารมีใครหนอ อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งครูบาอาจารย์ในสายนี้ท่านถือเป็นเรื่องเคร่งหนักหนา อย่าว่าแต่ในอาวาสเดียวกัน แม้ภิกษุในอาวาสอื่นเกิดอาพาธลง ท่านจะต้องส่งพระภิกษุสามเณรองค์ใดองค์หนึ่งไปช่วยพยาบาลรักษา ซึ่งมันเป็นกิจธุระหน้าที่ แม้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังทรงรับสั่งสรรเสริญว่า

 

          “ผู้ใดอุปถัมภ์อุปัฏฐากพระภิกษุอาพาธ มีอานิสงส์เท่ากันกับอุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเราตถาคต”

 

          ที่ท่านทรงยกย่องไว้ถึงขนาดนั้น ก็เป็นการกระตุ้นเตือนใจพระภิกษุสงฆ์มิให้ทอดทิ้งกันยามยาก ดังนั้นโดยปกติแล้ว เรามีปัจจัย ๔ เกิดขึ้น พระภิกษุสงฆ์จะต้องพิจารณาแจกแบ่งไปตามฐานานุรูป คือแจกแบ่งกันใช้ แจกแบ่งกันฉัน พอให้มีชีวิตอยู่มีกำลังพอประพฤติพรตพรหมจรรย์ มิใช่ว่าจะแจกแบ่งไปเพื่อความร่ำรวย หรือไปสะสมเอาไว้ให้มันบูดมันเน่า โดยปราศจากประโยชน์

 

          เพราะฉะนั้น โภชเนมัตตัญญุตา การปฏิบัติธรรมต้องถือหลักโภชนะ รู้จักประมาณในการบริโภค การบริโภคนี้ไม่เฉพาะแต่บริโภคปัจจัย ๔ แม้แต่การประพฤติวัตรข้อวัตรปฏิบัติก็ควรจะรู้จักประมาณ ดังนั้นในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า

 

          “เทฺว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา”

 

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่ควรส้องเสพย์คือ

 

          กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันในความสุขมากเกินไป คือเกินพอดี อันนั้นมันเป็นเรื่องของปุถุชน เรื่องของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องของสมณะ

          อัตตกิลมถานุโยค การประพฤติตนเพื่อทรมานตน อันนี้บรรพชิตก็ไม่ควรส้องเสพย์เพราะมันเป็นเรื่องที่เป็นการทรมานตนโดยปราศจากประโยชน์

 

          ถ้าอย่างนั้น เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร

 

          มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา

 

          ทางสายกลางคือ ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติพอดิบพอดีไม่ยิ่งนักและไม่หย่อนนัก เป็นทางสายกลาง เป็นแนวทางที่ดำเนินไปสู่ความสำเร็จอริยมรรคอริยผล ดังนั้นตัวอย่างการถือเนสัชชิกธุดงค์ตามแบบเจ้าคุณอุบาลีฯ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านสอนให้ลูกศิษย์ถือธุดงควัตรเกี่ยวกับการอยู่เนสัชชิก ท่านบอกว่า ใครสามารถที่ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนา ถ้าอดนอนด้วยการคุยกันให้สนุก พอฆ่าเวลาแก้ง่วง มันไม่เกิดประโยชน์อันใด

 

          ท่านจึงสอนให้ลูกศิษย์ของท่านถือธุดงค์อย่างใดอย่างหนึ่งให้เคร่งครัด คือฝึกหัดนอนเวลา ๔ ทุ่มแล้วก็ตื่นเวลาตี ๓ ฝึกหัดให้ได้ทุกวัน ๆ จนเป็นนิสัย จนกระทั่งว่าเวลา ๔ ทุ่มแล้วไม่อยากนอนมันก็ง่วงหลับไปเอง

 

          พอถึงเวลาตี ๓ ไม่อยากตื่นมันก็ตื่นเอง ตื่นแล้วนอนลงไม่ได้เพราะนิสัยมันเคยชิน

 

           ท่านอาจารย์เสาร์ในฐานะที่ท่านมีส่วนสัมพันธ์กับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านก็ย้ำสอนลูกศิษย์ลูกหาในเบื้องต้น ให้ฝึกฝนอบรมตัวเอง ฝึกหัดตัวเองให้จำกัดเวลา ๔ ทุ่ม ก่อนจะถึง ๔ ทุ่มให้เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา หรือศึกษาข้อวินัยในสำนักครูบาอาจารย์ ท่านไม่นิยมในการที่จะคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ด้วยการคุย ด้วยการสนุกเพลิดเพลินหรือด้วยการอยู่การกินใด ๆ การหลับการนอน ให้เคร่งครัดในการปฏิบัติเดินธุดงค์ นั่งสมาธิภาวนา พอถึง ๔ ทุ่มแล้วจำวัด หลับไม่หลับ ก็นอนมันอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งตี ๓

 

             ตั้งแต่ ๔ ทุ่มจึงตี ๓ นอนให้หลับทั้งคืน พอถึงตี ๓ แล้ว ไม่ยอมนอนต่อไป ลุกขึ้นมาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ฝึกหัดนิสัยจนเคยชิน จนคล่องตัว ถ้าใครปฏิบัติตามโอวาทที่ท่านแนะนำ อันนี้เป็นการฝึกหัดลูกศิษย์ในขั้นต้น ถ้าใครปฏิบัติได้แล้วทุกสิ่งทุกอย่างท่านจะเปิดเผยออกมาสอน ถอดให้หมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีปิดบัง

 

 

          ปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นก่อนที่จะรับลูกศิษย์เข้าอยู่ในสำนัก ใครเข้าไปอยู่ในสำนักของท่านในตอนแรก ๆ ท่านจะมีแต่ดุกับดุ ดุเอาอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งบางครั้งบางทีผู้ที่จะไปอาศัยอยู่ในสำนักของท่านทนไม่ไหวสะพายบาตรแบกกลดหนีไป ถ้าหากเวลาล่วงเลยไป ๑ ปีมีอะไรอาจารย์มั่นสอนหมด ท่านถือว่าท่านได้กลั่นกรองแล้ว ฆ่าก็ไม่หนี คน ๆ นี้เป็นคนที่จะอบรมสั่งสอนได้ เป็นคนมีอุปนิสัย ครั้นต่อไปแล้วท่านมีอะไรดี ๆ ท่านก็สอนให้หมด

 

 

ระลึกชาติ

เมื่อก่อนที่จะตาย แกรู้ไหมว่าแกจะตาย แม้แต่ตายแล้วก็ไม่รู้ว่าตัวตาย

          ท่านอาจารย์ทอง อโสโก ศิษย์องค์หนึ่งของหลวงปู่เสาร์เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า มีพระองค์หนึ่ง อยู่ที่อำเภออำนาจเจริญ อุปสมบทในงานฉลองอายุของหลวงปู่เสาร์ที่วัดบูรพาฯ เมืองอุบลฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ พออุปส

          มบทแล้วก็ไปจำพรรษาที่วัดบ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แล้วก็ไปป่วยหนัก ท้องร่วง มรณภาพอยู่ที่วัดนั้น

 

          ภายหลังแกบอกเล่าว่า แกไปเกิดที่บ้านน้ำกล่ำ อำเภอธาตุพนม เมื่อโตขึ้นก็ระลึกชาติหนหลังได้

 

          ท่านอาจารย์ทองซึ่งเป็นผู้ฝึกฝนและให้การอบรมได้ทราบข่าวว่าพระองค์นี้ไปเกิดที่บ้านน้ำกล่ำ ท่านก็ไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยได้เดินทางไปพบคนที่ระลึกชาติหนหลังได้ แล้วก็ได้สอบถามว่า เมื่อก่อนที่จะตายนี้แกรู้ไหมว่าแกจะตาย เขาบอกว่าไม่รู้ แม้แต่ตายแล้วก็ได้รู้ว่าตัวตาย เขาบอกว่าในขณะที่ญาติโยมเอาศพแกไปขุดหลุมจะฝัง แกก็ไปกับเขาด้วย แล้วไปนั่งดูเขาขุดหลุม แกก็ถามเขาว่า

         

          “โยมขุดหลุมฝังอะไร”

 

          โยมเขาก็ไม่ตอบเพราะไม่ได้ยินเสียงพูด แกก็เอามือไปตีพุ่มไม้ พอพุ่มไม้ไหวมีเสียงดัง ญาติโยมก็ร้องเอะอะว่าผีหลอก พากันวิ่งหนี แกก็วิ่งตามเขาไปเพราะกลัวผีหลอกเหมือนกัน พอโยมไปได้หน่อยหนึ่งก็ย้อนกลับมาช่วยกันขุดหลุม แล้วฝังศพจนเสร็จ แล้วเขาชวนกันไป

 

           “รีบกลับ เดี๋ยวผีหลอก”

 

          แกก็รีบวีงออกหน้าเขากลับเข้าไปในวัด นี้ตามคำบอกเล่าของคนที่ตายแล้วมาเกิดใหม่ แล้วก็ระลึกชาติหนหลังได้แสดงว่าเขาไม่รู้ว่าเขาตาย

 

          เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า คนก่อนจะตายก่อนจะเกิด จิตมีลักษณะอย่างไร ถ้าพิจารณาตามลักษณะที่เรามาภาวนานี้ เมื่อเราภาวนาจิตสงบเป็นสมาธิ ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อที่จิตจะตัดกระแสความรู้สึกในปัจจุบัน ไปสู่ความเป็นสมาธิเป็นอย่างไร คนก่อนที่จะตายก็มีลักษณะอย่างนั้น คนธรรมดาที่ไม่ตายในสมาธิ จะต้องปรากฏมีรูปร่างเดินออกไป พอเดินออกไปแล้วจะชะโงกมองดูร่างเดิมนี้นิดหนึ่ง แต่เขาจะไม่นึกว่าร่างที่นอนตายอยู่นั้นคือร่างกายของเขา เขาก็เดินหนีไปเลย

 

 

          นี่เปรียบเทียบกับจิตที่เป็นสมาธิระดับอุปจาระ ส่งกระแสออกไปนอก แล้วปรากฏว่ามีรูปร่างเดินไปเหมือน ๆ กับลักษณะของมโนมยิทธิที่จิตออกไปดูนรก ดูสวรรค์ เพราะในขณะนั้นมีความรู้สึกว่าเขามีร่างกายอยู่ เมื่อออกจากร่างไปจึงปรากฏว่ามีร่างติดตัวไปด้วย ถ้าเปรียบเทียบกับคนก่อนจะตายก็ต้องเป็นอย่างนั้น คือจิตจะมีการรวมลงไป คือรวมพลัง เพื่อจะถีบตัวออกจากร่างเดิม

 

          ที่นี้ก่อนจะเกิด ตามคำบอกเล่าของคนที่ระลึกชาติได้ เมื่อเขาเข้ามาในวัด แล้วเขาไปเที่ยวทักทายกับพระเณรและครูบาอาจารย์ในวัด ไม่มีใครพูดกับเขา เขาจึงมานึกว่า คนทั้งหลายเกลียดเราเพราะเหตุไร ในเมื่อทุกคนรังเกียจอย่างนี้ เราจะอยู่กับเขาได้อย่างไร เขาเดินหนีจากหมู่คณะจากวัดไป แล้วเดินไปทางบ้านน้ำกล่ำ

 

              

          พอไปถึง ความทรงจำยังมีอยู่ เวลาขาไปท่านอาจารย์ทองพามาฉันที่บ้านโยมแม่ที่มาเกิดใหม่ พอเขาขึ้นไปบนบ้าน ก็ไปขอน้ำฉัน เจ้าของบ้านก็นั่งเฉยเพราะไม่ได้ยินเสียง ก็ถือวิสาสะไปกรองน้ำในตุ่มมาฉัน พอฉันน้ำเสร็จแล้วขอที่พัก เจ้าของบ้านก็เฉย จึงถือวิสาละเดินเข้าไปในห้องนอน เอาบริขารไปวางไว้แล้วก็ล้มตัวลงไปนอนหลับ

 

         นั่นแสดงว่าเขาไปสู่ท้อง ไปปฏิสนธิแล้ว แต่เขาก็ไม่รู้ว่าเขาไปเกิด เพียงแต่รู้สึกตัวว่านอนพักผ่อนเท่านั้น อันนี้ตามคำบอกเล่าของคนที่เกิดมาแล้วระลึกชาติหนหลังได้ ซึ่งความทรงจำเก่า ๆ เริ่มเกิดขึ้นลาง ๆ เมื่ออายุ ๕ ขวบ และชัดเจนขึ้นเมื่ออายุ ๗ ขวบ    

 

          ถ้าจะเปรียบเทียบ คนก่อนที่จะเกิดก็ไม่รู้ว่าตัวจะมาเกิด ถ้าจะเปรียบเทียบกับขณะที่จิตเรามีสมาธิอย่างละเอียด ก่อนที่จิตจะถอนจากสมาธิ จิตจะต้องมีการไหลตัวนิดหนึ่ง แล้วก็ค่อยมีความรู้สึกขึ้นมา แล้วก็ย้อนมาสู่กายอีก แล้วก็เข้าสู่กาย ก็กลายเป็นการเกิด อันนี้ลักษณะของจิตที่เข้าสมาธิอย่างละเอียด จนกระทั่งตัวหาย รูปร่างกายไม่ปรากฏ ยังมีแต่จิตดวงเดียวซึ่งลอยเด่นอยู่เท่านั้น นั่นก็แสดงว่าวิญญาณจิตนี้ออกจากร่างไปแล้ว เพราะไม่ได้เกี่ยวพันกับร่างกาย คำตอบก็พอที่จะเทียบได้อย่างนี้ เพราะก่อนที่จะตายจากชาติก่อน ๆ โน้น เราก็ไม่ทราบว่าได้เตรียมการอะไร แต่มาเทียบกับจิตที่เข้าสู่สมาธิและออกจากสมาธิพอที่จะเปรียบเทียบกันได้ ว่าก่อนจะตายจิตเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร


 

                   ก่อนที่จะตายในสมาธิ จิตจะเข้าสมาธิ พอจิตเข้าสมาธิปั๊บก่อนสมาธิจะเกิด กายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ ทีนี้คนที่จะตายนี่ ในขณะที่กำลังดิ้นรนกระวนกระวายอยู่นั้น อย่างดีเขาก็รู้สึกเพียงแต่ว่าเขาอาจจะตาย แต่เมื่อจะตายจริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างสงบ ร่างกายที่ดิ้นรนชักงอก็สงบไป นิ่งเงียบ ในตอนนี้จิตเตรียมที่จะออกจากร่าง แต่ไม่ทราบว่าเขากำลังจะตาย ฉะนั้นในตัวอย่างนี้ เขาก็ไม่รู้ว่าเขาตาย แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาเกิด ดังนั้นจิตของคนที่จะตาย ก็มีลักษณะไม่รู้ว่าตัวจะตาย ลักษณะจิตที่จะเกิด ก็ไม่รู้ว่าตัวจะเกิด นี้คือลักษณะของคนจะตายหรือคนจะเกิด

 

หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 05:09 น. )