ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ตอนที่ 12 พิมพ์
เขียนโดย Administrator   
วันพุธที่ 07 มีนาคม 2012 เวลา 03:38 น.
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๑๒

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

 

  


คุณธรรมพระอริยะ

มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงไม่กวัดแกว่ง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :    เมื่อพระอริยบุคคล อันมีพระโสดาบัน ท่านไม่ผูกพยาบาท ท่านไม่ทำร้ายคน หรือเบียดเบียนคน ท่านอยู่ในศีล ๕ ใช่ไหมเจ้าคะ


 
หลวงพ่อพุธ :    อยู่ในศีล ๕


 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :      มีกล่าวไว้ในพระพุทธศาสนา


 
หลวงพ่อพุธ :     มีกล่าวในพระพุทธศาสนา

 

          ลักษณะน้ำใจของพระโสดาบัน เป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย คือ มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงไม่กวัดแกว่ง มีความรักในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง มีความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

          ทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำบุญก็บุญ จะบาปก็บาป ไม่มีการคัดค้าน เป็นสมาธิจิต เมื่อมีการกระทบจิตใจ บางทีอาจจะโกรธ แต่ไม่ผูกพยาบาท พระโสดาบันเต็มไปด้วยการให้อภัย เรียกว่าให้อภัยทาน ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตใครทั้งสิ้น

 

          เช่นอย่างพระมหาบพิตร ต้องลงพระปรมาภิไธยรับสั่งให้ทำอะไรลงไป เช่น การให้อภัยโทษ และมีการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด อาตมาเคยพิจารณาดูแล้วในเรื่องนี้ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน คิดว่าไม่มีทางที่จะได้รับบาป เพราะรัฐธรรมนูญการปกครองมาจากมติคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตราเป็นกฎหมายนั้น ๆ ออกมา จึงเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการปลอดพ้นจากสิ่งที่เป็นบาปกรรม จริงอยู่ อาจจะมีพระปรมาภิไธย แต่ก็โดยกฎหมายโดยมติของปวงชน

 

          ที่อาตมาต้องอธิบายดังนั้นก็เพราะมีผู้มาถามบ่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาตมภาพได้แก้ปัญหาเขาไว้อย่างนี้
 

 


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตี์ :      พระสกทาคามี ท่านมีคุณสมบัติอย่างไร


 
หลวงพ่อพุธ :   พระสกทาคามีละสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนกับพระโสดาบัน คือ ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ระงับราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง แต่สังโยชน์นี้ที่ละได้เท่ากันกับพระโสดาบัน แตกต่างกันตรงที่ระงับ ราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง จิตอยู่เหนือพระโสดาบันนิดหน่อย

  


 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :    พระโสดา พระสกทาคามีนี้ กามราคะยังมีอยู่ คือ หมายถึงความรักสวยรักงามยังติดอยู่มิใช่หรือเจ้าคะ
 


หลวงพ่อพุธ :    ยังติดอยู่ มีเรื่องในพระพุทธประวัติ เป็นเรื่องของนางวิสาขาว่า นางวิสาขาไปลืมเครื่องประดับไว้ในอารามของพระพุทธเจ้า แล้วพระอานนท์เป็นผู้เก็บเครื่องประดับตกแต่งอันนั้นรักษาไว้

 

          เมื่อนางวิสาขามาวัด พระอานนท์แจ้งให้ทราบว่านางลืมเครื่องประดับคุณค่ามหาศาลไว้ในวัดนี้ อาตมภาพเก็บเอาไว้ นางวิสาขาก็เรียนกับพระอานนท์ว่า เครื่องประดับของดิฉันที่พระคุณเจ้าได้เก็บรักษาไว้ ไม่ขอรับคืน ขอยกถวายเป็นสมบัติของสงฆ์

 

          ฝ่ายพระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์ก็รับสั่งว่า ของประดับเหล่านี้แม้จะเป็นของมีค่าสูง แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไรสำหรับสงฆ์

 

          นางวิสาขาก็ทูลว่าถามว่า ถ้าเช่นนั้นจะทรงให้ปฏิบัติอย่างไร

          พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า ให้รับเอาของคืนไป

 

          นางวิสาขาทูลว่า การที่รับของคืนนั้นเป็นการไม่สมควร ขอปวารณาสร้างพระวิหารถวาย

 

          อันนี้เป็นหลักฐานที่พระโสดาบันยังใช้เครื่องประดับอยู่


 

พลังใจ

ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :   อยากขอให้พระคุณเจ้านั่งแผ่เมตตาให้กับพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ขอให้ท่านมีความร่มเย็นเป็นสุข
 


หลวงพ่อพุธ :    อันนี่รู้สึกเป็นกิจวัตรที่ได้กระทำมาเป็นประจำแล้ว


 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :    อยากเรียนถามพระคุณเจ้าว่า เคยฝันถึงท่านพระพุทธยอดฟ้า เคยฝันถึงท่านหลายครั้ง ไม่ทราบว่าฝันถึงท่านเองหรือใจนึกถึง


 
หลวงพ่อพุธ :   พลังใจที่ได้เคารพบูชา ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรดาพระบรมมหากษัตราธิราชเจ้าทั้งหลายในอดีตนั้น ย่อมเป็นพลังอันหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้จิตใจของพระองค์ ปฏิพัทธ์ถึงพระองค์ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยความแน่นอน ซึ่งปกติแล้วความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของความดี ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรม เป็นพื้นฐานให้เกิดความดี

 

 

          ดังนั้น การที่ได้ฟังเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนา ที่คิดว่ายังไม่เป็น ยังไม่ชำนาญนั้น เพราะความกตัญญูกตเวทีอันนี้ จะช่วยเกื้อกูลอุดหนุนน้ำใจของท่านให้ดำเนินไปสู่สมาธิที่ถูกต้อง

 

          เท่าที่เคยได้ฟังที่วัดป่าสาลวันเมื่อครั้งนั้นว่า เมื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตสงบสว่างลงไปแล้ว หายหวาดกลัวในสิ่งต่าง ๆ อันนี้คือจิตของท่านมีสมาธิและเข้าสมาธิได้ง่าย

 

          แต่การทำสมาธิบางครั้งบางคราวนั้น เราอาจจะไม่สมประสงค์ในการกระทำ คือจิตอาจไม่มีความสงบตลอดเวลา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นการสะสมกำลังไว้ เมื่อเวลาเหมาะสมเมื่อใด จิตจะสงบลงเป็นสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อขณะใดที่เกิดความกลัว กลัวจะมีภัยอันตรายเกิดขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติ เป็นผู้อบรมอยู่เป็นประจำนั้น จะวิ่งเข้าสู่ความเป็นสมาธิโดยไม่ตั้งใจ

 

          อันนี้เคยมีปรากฏการณ์ให้อาตมภาพได้ทราบหลายครั้งหลายหน ในชีวิตนี้รถเคยคว่ำถึง ๒ หน

 

          ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ไปจังหวัดอุบลฯ กลับมาจะถึงจังหวัดนครราชสีมาอยู่แล้ว ห่างเพียง ๑๐ กว่ากิโลเมตรเท่านั้น รถคว่ำที่โค้งด่านเกวียน เขตตัวเมืองนครราชสีมา

 

          ขณะที่รู้สึกตัวว่าเกิดอันตราย จิตจะวิ่งเข้าสู่สมาธิโดยไม่ตั้งใจ ในขณะนั้นรู้สึกตัวว่าตัวเองลอยอยู่บนอากาศ บริเวณรอบ ๆ สว่างไสวไปหมด ทั้งข้างหน้าข้างหลัง

 

          ภายในจิตใจคล้าย ๆ กับว่ามันสั่งให้รถหลบเสาซีเมนต์ข้างถนนซึ่งเขาปักไว้เป็นแถว เมื่อมองดูแล้วก็มองเห็นต้นเสาแต่ละต้นคล้ายมันปรากฏ และรถหลบเสาซีเมนต์นั้นไปได้ แต่ต้นสุดท้ายที่รถจะไปปะทะ มันมืดมองไม่เห็นต้นเสา รถก็ไปปะทะต้นเสาซีเมนต์นั้น แล้วรถก็พลิกคว่ำลงไป

 

          คงจะเป็นเพราะเดชะบุญ จิตวิ่งเข้าสู่สมาธิโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นเอง ทำให้อาตมภาพและทุกคนในรถไม่เป็นอันตราย

 

          ดูสภาพของรถแล้วรู้สึกว่าเสียหายมาก ใคร ๆ มองแล้วก็รู้สึกว่า ไม่มีใครเหลือสักคนที่นั่งไปในรถ อันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

 

          ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๕ ที่ผ่านมานี้ ครั้งนี้จะไปรับถวายที่ดินที่เขาอุทิศให้สร้างวัด พอไปถึงอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากนางรองประมาณ ๑๓ กิโลเมตร บังเอิญยางแตกทั้งข้างหน้าและข้างหลังพร้อมกัน รถวิ่งลงไปข้างถนน เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะนั้น คล้าย ๆ ตนเองลอยขึ้นไปบนอากาศ รู้สึกตัวเองเมื่อรถมันหายกลิ้งแล้ว พอรถหยุด ได้ถามว่ามีใครเป็นอะไรบ้างไหม เขาบอกว่าไม่มีอะไร ไม่มีใครเจ็บ

 

          เหตุการณ์ทั้ง ๒ ครั้งนี้เกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน แปลกตรงที่ว่าไม่ได้ตั้งใจเข้าสมาธิ พอเกิดขึ้นแล้วมันเกิดขึ้นของมันเอง

 

          จึงได้คติมาเตือนใจบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พุทโธ ธัมโม สังโฆนี้ระลึกไว้ให้ดี ควรระลึกไว้จนมันเกิดติดนิสัย

 

          บางครั้งมิได้ตั้งใจจะนึก จิตจะนึกขึ้นมาเองว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ บางครั้งเมื่อทำอะไรผิดพลาด แทนที่จะไปนึกอย่างอื่น กลับมานึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ และพูดออกมาโดยมิได้ตั้งใจ

 

          อันนี้เพราะอาศัยจิตติดอยู่กับพุทโธ ธัมโม สังโฆนั้น เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นมา จิตมันก็วิ่งเข้าหาพุทโธ ธัมโม สังโฆโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจะสิ้นใจ ถ้าหากเราไม่ได้สร้างพื้นฐานลมหายใจ ทุกขเวทนาต่าง ๆ มันจะมารบกวนจะทำให้จิตไขว่คว้าหาที่พึ่ง ถ้าว่าเราไม่นึกถึงอะไรให้มั่นคงไว้สักอย่างหนึ่ง จิตก็จะไม่มีที่ยึด ก็จะไขว่คว้าไปต่าง ๆ บางทีก็อาจจะไปเกาะสิ่งที่เป็นอบายภูมิ เพราะจิตไม่มีที่พึงที่ระลึก จิตนั้นก็จะไปสู่อบายภูมิ เป็นสภาพที่ไม่มีความเจริญ

 

          พุทโธ ธัมโม สังโฆนี้เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์  แม้จิตจะไม่สงบก็ตามเป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ
 

 


นิมิต

เป็นเครื่องรู้ของจิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :    นิมิตนี่มีหลายอย่าง บางอย่างแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็ให้เห็นเหมือนฝัน และอีกอย่างหนึ่งก็แสดงให้เห็นเหมือนทิพย์ เป็นนิมิตความหมาย ขอท่านอาจารย์ได้อธิบายให้ฟัง
 


หลวงพ่อพุธ :     นิมิตก็มีความหมายตรงตัวอยู่แล้วว่า เป็นเครื่องใช้ของจิต

          นิมิตจะเกิดขึ้นได้ในจิตสมาธิ คือ เมื่อผู้ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ ลงไป จิตสงบ สว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็เกิดขึ้นมาในลักษณะต่าง ๆเช่น ภาพคน ภูตผี ปิศาจ เทวดา

 

          และอีกอย่างหนึ่ง ในการพิจารณาอสุภกรรมฐานหรือธาตุกรรมฐาน ในขั้นต้น ผู้ปฏิบัติอาศัยการน้อมนึกพิจารณา น้อมไปสู่ความเป็นอสุภกรรมฐาน ความไม่สวย ไม่งาม น่าเกลียดโสโครก ของร่างกาย น้อมไปสู่ความเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ เป็นองค์ประชุมของธาตุ ๔ ด้วยความตั้งใจก็ดี เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิก็จะเกิดนิมิตภายนอกขึ้นมา

 

 

          เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาดูนิมิตภายนอกกาย นิมิตภายนอกกายจะย้อนกลับเข้ามาภายใน หมายถึงจิตนั้นน้อมเข้ามาในกาย แล้วจิตจะมารู้ถึงนิมิตภายในกาย ในขณะที่จิตรู้อยู่ภายในตัวนั้น จิตจะมีลักษณะตั้งอยู่ระหว่างกลางของกาย แล้วจิตจะไปรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในกาย

 

          เมื่อจิตมองดูสิ่งที่รู้เห็นอยู่ภายในกายนั้น จิตจะพิจารณากายต่อไป จนกระทั่งจิตละเอียดลงไปจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ

 

          เมื่อจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จิตจะมีลักษณะคล้าย ๆ กับถอนตัวออกมาจากร่างกาย เมื่อถอนตัวออกจากร่างกายแล้ว จิตจะมาลอยเด่นอยู่ แล้วจิตจะย้อนกลับไปมองดูกายเดิม

 

          ในเมื่อจิตย้อนกลับไปมองดูกายเดิม จิตก็มองเห็นกายในลักษณะที่นั่งหรือนอนอยู่ก็ตาม แล้วกายนั้นจะแสดงอาการขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง ละลายไป ในที่สุดก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูกก็หลุดออกไปเป็นชิ้น ๆ และแตกหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ในที่สุดกระดูกก็หลุดละเอียดลงไป และหายไปในที่สุด

 

          อันนี้เป็นนิมิตซึ่งเกิดขึ้นในจิตโดยปราศจากสัญญาใด ๆ ที่น้อมนึก นิมิตอันนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต

 

          ในขณะที่จิตมองเห็นนั้น จิตยังไม่บอกว่าเป็นอะไร เรียกว่าอะไร คือ เมื่อกายที่จิตมองเห็นนั้นมองการต่าง ๆ ผิดแปลก เช่น ขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพังลงไป ดังที่ได้บรรยายมานั้น อันนี้จิตอยู่ในขั้น ปฏิภาคนิมิต เป็นอุบายสำหรับฝึกฝนอบรมจิตในขั้นสมถะ

 

          เมื่อจิตมองดูนิมิตนั้น นิมิตนั้นอาจจะหายไป เมื่อนิมิตนั้นหายไป ก็ยังเหลือแต่สภาวจิต ผู้รู้ นิ่ง สดใส สว่างชั่วขณะหนึ่ง ก็จะเกิดภูมิรู้เกิดขึ้นภายในจิต คือ มีแต่เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น ดับไป อยู่ภายในจิต จิตของผู้ปฏิบัติก็จะจดจ้องมองดูจิตที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากเจตนาสัญญาใด ๆ ทั้งนั้น

 

          สิ่งที่มองเห็นนั้นเรียกว่าอะไร เรียกไม่ถูก ไม่มีความหมาย ในสมมุติบัญญัติ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสตรีว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

 

          สิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่นี้หมายถึงอะไร จะเรียกชื่อตามสมมุติบัญญัติไม่ถูก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันนี้เป็นความรู้ของจิตที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรมขั้นสูง

 

          ถ้าหากว่าจิตมองดูสิ่งที่ เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น ดับไป แล้วก็ถอนออกมาจากสภาวะรู้อย่างนั้น จิตของผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ ก็เรียกว่าจิตอยู่ในขั้น สมถกรรมฐาน

 

          แต่ถ้าหากสิ่งที่จิตมองดูนั้น เกิด อนิจจสัญญา ความสำคัญมันหมายว่า สิ่งที่รู้เห็นนั้นเป็นของไม่เที่ยง แล้วก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของผู้ปฏิบัติก็จะวิ่งเข้าสู่ ภูมิวิปัสสนา

 

          ในขณะที่จิตรู้อย่างนั้น ไม่มีอะไรปรากฏ คือ มีแต่จิตตัวผู้รู้นิ่ง เด่นอยู่ และสิ่งที่รู้ก็ปรากฏอยู่ คือจิตกับความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิต และมีสติรู้ตามจิต คือสิ่งรู้อันนั้น อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติอยู่ในภูมิจิตภูมิธรรมขั้นสูง

 

          และอีกอย่างหนึ่ง ในลักษณะเช่นนี้ ไปตรงกับพุทธภาษิตที่ว่า ในกาลใดก็ดี เมื่อธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏอยู่แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร ในกาลนั้นความสงสัยย่อมสิ้นไป

 


 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :    สำหรับนิมิตนี้ ถ้าเป็นถึง อุคคหนิมิต หรือ ปฏิภาคนิมิต ทำให้สามารถที่จะเห็นได้จากการที่เราดู หมายความว่า ภาพที่เห็นนิมิตอีกอย่างหนึ่ง คล้าย ๆ กับฝัน มีความจริงเพียงใด กายหยาบหรือนิมิตในฝัน ตัวเองมีนิมิตว่าอย่างนั้น แล้วไปถามว่าแปลว่าอะไร บางทีก็มีความจริง หรือบางทีไปถามพระอาจารย์ อธิบายว่ามีนิมิตว่ากระไรบ้าง และท่านก็บอกว่ามีนิมิตอย่างนั้น ๆ ที่แปลนิมิต เรื่องนิมิตนี้มีความจริงอย่างไร


หลวงพ่อพุธ :    นิมิตนี้ บางครั้งก็มีความจริง บางครั้งก็ไม่มีความจริง เหมือน ๆ กับความฝัน คือ นิมิตหรือการฝัน ในขั้นนี้เป็นเรื่องพื้น ๆ โดยทั่วไป


 


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :  แต่เรื่องนิมิตนี้เคยนำไปถามท่านผู้ทรงศีล หรือพวกหมอดู เคยไปถามท่าน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ไปถามหลวงปู่ขาวว่า จะเป็นอย่างไรกับเหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านมีนิมิตหรือเปล่า หลวงปู่ท่านก็บอกว่า มีนิมิต เห็นแปลกก็ตีความหมายว่าไม่มีอะไรมาก ท่านก็บอกว่าไม่มีอะไรมาก แต่ท่านก็ตีความว่าไม่ค่อยจะดี

 

          อย่างนี้นิมิตของผู้ทรงศีลจะเป็นความหมายได้อย่างไร และอีกอย่างหนึ่งถ้าท่านแปลมาจะมีวิธีการอย่างไร
 


หลวงพ่อพุธ :   นิมิตของผู้ทรงศีลก็อาศัยความมีศีล และอาศัยความรู้สึกของจิต อาศัยความคิดที่เกิดขึ้นของความรู้เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา โดยการพิจารณาในนิมิตสมาธิภาวนา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นจริง


 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :   คำว่า อุคคหนิมิต มีความหมายมาจากคำว่า การทำจิตใจให้มีสติ ไม่ให้หลงในความสวยความงาม ในทางตรงใช่ไหม


 
หลวงพ่อพุธ :    ความมีสติ ความไม่หลงติดในความสวยงาม เป็นผลเกิดจากการพิจารณาทำอุคคหนิมิตให้เกิดขึ้นได้แล้ว แต่อุคคหนิมิตหมายถึง สิ่งที่มองเห็นติดตา เกิดจากการเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเกิดสมาธิแน่วแน่ มองเห็นเป็นนิมิต ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น เรียกว่า อุคคหนิมิต

 

 

          อีกอย่างหนึ่ง เมื่อโยคาวจร มาพิจารณาอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมไปสู่ความเป็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด สกปรก โสโครก จนจิตสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ สว่างไสว มีปีติ สุข เอกัคคตา เป็นหนึ่งแน่วแน่ แล้วเกิดนิมิตมองเห็นอาการใดอาการหนึ่งในอาการ ๓๒ เช่น กระดูกเป็นต้นก็ดี หรือเกิดนิมิตมองเห็นสิ่งปฏิกูลภายในร่างกายก็ดี หลับตาก็มองเห็น ลืมตาก็มองเห็นติดตา เรียกว่า อุคคหนิมิต

 

          ผลเพื่อบรรเทาราคะให้เบาบางลง หรือขจัดราคะให้หมดไปตามกำลังแห่งสมาธิและสติปัญญา


 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :   การพิจารณาความไม่สวยไม่งามนี้ มันเป็นสมมุติบัญญัติ ไม่มีความหมาย หรือแล้วแต่จะคิดไป ใช่หรือไม่


 
หลวงพ่อพุธ :   แล้วแต่จะคิด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนที่จะเกิดความจริงขึ้นมา ต้องอาศัยความเป็นจริงที่ปรุงแต่งขึ้นมา เพื่ออบรมจิตของตัวเองให้มีความเห็นคล้อยตาม และเกิดความเชื่อถือว่าเป็นอย่างนั้น

 

          ถ้าหากจะพิจารณาในปัจจุบันนี้ ให้พิจารณาน้อมไปถึงอดีต หากร่างกายนี้แตกสลายไปแล้ว ผมก็ดี ขนก็ดี เจ็บก็ดี หนังก็ดี ฟันก็ดี ล้วนแต่แตกสลายไป ให้น้อมไปพิจารณาเพื่อให้จิตเกิดความรู้ความจริง เห็นจริง แม้จะไม่เกิดความเห็นอย่างนี้ แม้จิตจะไม่น้อมเข้าไปสู่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องดังกล่าวก็ตาม
 

 

ผลของการทำบุญ

การทำบุญนั้นเพื่อกำจัดกิเลส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ :    การทำบุญ ผลบุญที่ได้อยู่ที่ไหน จะได้อยู่ที่จิตของเรา หรือจะได้อยู่ที่เราจะได้ผลบุญ คนเราส่วนมากเวลาทำบุญคิดว่าจะได้ผลบุญอย่างนี้

 

          แต่บางทีก็ฟังดูว่า ถ้าทำบุญทำทานหรือทำอะไรมันก็ได้กุศล ผลมันก็ได้อยู่ที่ใจ เลยทำให้ผลอยู่ที่จิตใจของเราและก็เป็นการขัดเกลาจิตใจของเรา


 
หลวงพ่อพุธ :    การทำบุญ โดยความมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตของผู้กระทำนั้น ให้เป็นผู้มีเมตตาอารีอารอบแก่บุคคลอื่น และการทำบุญนั้นเพื่อกำจัดกิเลส เป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เกิดมีวิชชากว้างขวาง อารีอารอบรู้จักเอื้อเฟื้อแก่มนุษย์และสัตว์

 

          แต่สำหรับอุบายโดยตรง เพื่อเป็นการจูงใจผู้ที่จะหลงผิดได้ทำบุญ เพื่อผลบุญจะติดตัวไปหลังจากตายแล้ว จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง อันนี้ก็เป็นอุบายเท่านั้น
 

 

 

ความหมายของกรรมฐาน

งานทางจิตที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตโดยตรง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :   คำว่ากรรมฐานมีความหมายอย่างไร ขอพระคุณเจ้าอธิบายด้วยเจ้าค่ะ
 


หลวงพ่อพุธ :   กรรมฐาน ตามความหมายของคำศัพท์ หมายความว่า เป็นที่ตั้งแห่งการงาน ความหมายใน ทางธรรมะ หมายถึง การทำงานทางจิตที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตโดยตรง เรียกว่า กรรมฐาน

 

 

          อารมณ์ของกรรมฐาน พุทโธ เป็น พุทธานุสติ เป็นที่พึ่งของการงานในทางจิตใจ ธัมโม ธรรมะ ก็เป็นที่ตั้งการงานของจิตอย่างหนึ่ง สังโฆ พระอริยสงฆ์ ก็เป็นที่ตั้งการงานทางจิต อย่าง หนึ่ง

 

          อานาปานสติ การกำหนดรู้ลมหายใจ หายใจเข้าออกก็ให้รู้ว่าสั้นหรือยาว หยาบหรือละเอียด สบายหรือไม่สบาย เป็นที่ตั้งของกรรมฐานอย่างหนึ่ง

 

          คำว่า กรรมฐาน จึงหมายถึง ที่ตั้งการงานในทางจิต

 

          พูดถึงหลักกรรมฐานตามแนวทางปฏิบัติ เฉพาะอารมณ์ของสมถกรรมฐานมีถึง ๔๐ อย่าง ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ มีอนุสติ ๑๐ อสุภ ๑๐ ธาตุกรรมฐาน ๔ และอารมณ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมถะ และเป็นที่ตั้งแห่งการงานในทางจิตทั้งนั้น

 

          พูดถึง อนุสติ หมายถึง การระลึกถึง อารมณ์ จิตใจ

 

          ในอนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ คือ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์และรวมทั้งอนุสติ ๘ ข้อข้างต้น อันนี้เป็นกรรมฐานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริกรรมภาวนา การบริกรรมภาวนาสามารถทำจิตให้สงบลงได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ

 

          แต่อนุสติข้อที่ ๙ และ ๑๐ ได้แก่ กายคตาสติและอานาปานสตินั้น กายคตาสติ คือ การพิจารณากายเป็นอารมณ์ อานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์ อารมณ์กรรมฐาน ๒ อย่างนี้ สามารถทำจิตของผู้ปฏิบัติให้สงบ และสามารถเดินเข้าไปสู่ความเป็น อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ โดยลำดับ และการกำหนดรู้ลมหายใจก็ดี การพิจารณากาบคตาสติก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้จัดเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นแนวทางยังจิตใจให้สงบในขั้นสมถกรรมฐานด้วย และจะเป็นเครื่องหมายให้จิตรู้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย เพราะการพิจารณากายก็ย่อมบ่งถึงการเปลี่ยนแปลงภายในกาย คือ กายปกติ ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ในสภาพปกติ

 

          ผู้ปฏิบัติพิจารณากายคตาสติ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นไปได้ ๒ อย่าง คือ

 

          ประการแรก ให้มองเห็นร่างกายที่พิจารณาอยู่นั้นเป็นของปฏิกูล สกปรก น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพัง ไม่สวย ไม่งาม อันนี้เพื่อกำจัดราคะ ความกำหนัดยินดี เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บวชในพระธรรมวินัยต้องปฏิบัติ ในแง่พิจารณากายคตาสติมุ่งสู่จุดอสุภกรรมฐาน เป็นสิ่งจำเป็นมาก

 

          และอีกแง่หนึ่งนั้น พิจารณากายโดยกำหนดอาการ ๓๒ เหมือนกัน แต่จะน้อมจิตให้รู้ลงไปในแง่เป็นธาตุกรรมฐาน คือ เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนกระทั่งให้จิตสามารถมองเห็นว่า ร่างกายทั้งหมดนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จริง ๆ

 

          ในการพิจารณาน้อมใจเชื่อ และพิจารณาย้อนกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นว่า ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนกระทั่งจิตสงบลงไปแล้ว สามารถรู้ความจริงปรากฏขึ้นเป็นนิมิต ให้เห็นว่ากายของเราเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แยกเป็นส่วน ๆ แล้ว ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้ว จิตจะได้ความรู้ขึ้นมาว่า ร่างกายทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประชุมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น เพราะความเป็นสัตว์ เป็นชีวิต เป็นเรา เป็นเขา ไม่มี

 

          ในเมื่อความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นชีวิตไม่มี ภายในจิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า กายของเรานี้จะเป็นเราเขาเพียงแค่สมมุติบัญญัติ เมื่อพิจารณาแยกออกมาจริง ๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นเขาเป็นเรา หรือเป็นสัตว์บุคคล เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนที่แท้จริง

 

          อันนี้คือจุดมุ่งหมายของการพิจารณากายคตาสติ

 

          และพร้อม ๆ กันนั้น แม้ว่าการพิจารณาลมหายใจเข้าออกก็ดี การพิจารณากายเป็นอสุภกรรมฐาน เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด ไม่สวย ไม่งาม เป็นของโสโครกก็ดี การพิจารณากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนเห็นชัดลงไปก็ดี ถ้าหากว่าจิตรู้แต่เพียงแค่การเป็นไปอย่างนี้ แม้ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของผู้ปฏิบัติก็เป็นเพียงขั้น สมถกรรมฐาน เท่านั้น

 

          แต่ถ้าหากว่าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติตนไปสู่ อนัตตสัญญา คือ ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน วิปัสสนาญาณ ก็บังเกิดขึ้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
 

 

 

ทำดีได้ดี

เมื่อผลแห่งความชั่วยังไม่ปรากฏ เขาก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความชั่ว

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ :    คนที่เรียกตนเองว่าเป็นคริสต์ แต่ตัวเองเป็นพุทธ ดิฉันไม่เข้าใจ อย่างเพื่อนของดิฉันก็เหมือนกัน สงสัยเรื่องกรรม พระท่านว่าให้ทำดี เราทำดี แต่ไม่เห็นได้ดี คนอื่นเขาไม่เห็นได้ทำดี แต่กลับได้ดีและร่ำรวยมีอำนาจวาสนา ส่วนเราทำดีนี่จะไม่ได้ดี

 

          ขอคำอธิบายว่า ทำดีได้ดีนี้ หมายถึงความดีที่ยั่งยืน มิได้หมายถึงดีสำหรับกายเนื้อเฉพาะตอนนี้เท่านั้น หรือในชาตินี้ดีเอาตัวรอดหรือเป็นผู้ประเสริฐ ทำดีแล้วจะเอาตัวรอดได้ ปลอดภัยได้ หมายความว่าสักวันหนึ่งคงจะได้ความดี ใช่ไหมเจ้าคะ

 


 
หลวงพ่อพุธ :       ใช่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า คนทำความชั่วเมื่อผลแห่งความชั่วยังไม่ปรากฏแล้ว เขาก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความชั่ว บางครั้งคนทำดี แต่ผลแห่งความดีนั้นยังไม่ปรากฏ เขาก็ยังไม่รู้ว่าความดีที่เขาทำนั้นเป็นความดี

 

          ส่วนมากความรู้สึกของคนเราโดยทั่ว ๆ ไป เขาก็มักจะพูดกันว่า บางคนทำแต่บาปแต่กรรม ทำไมเขาจึงร่ำรวยมียศถาบรรดาศักดิ์ เขามักจะพูดกันอย่างนั้น แต่เรานี้ทำดีแล้วไม่ได้ดี อันนี้ก็มีคนเขาถามบ่อย ๆ และก็ได้แก้ให้เขาไปว่า

 

          คนที่คุณกระทำความดีกับเขา เพราะเขาไม่มีดีจะให้คุณ คุณจึงไม่ได้ดี เพราะคุณมุ่งไปเอาดีกับคนซึ่งไม่มีความดี คุณไม่มุ่งเอาความดีกับตนเอง ถ้าคุณทำดีกับตนเอง คุณย่อมจะได้ดี เช่น คุณปฏิบัติราชการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความดี ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต งดเว้นแต่สิ่งซึ่งมันผิดวินัยในหน้าที่ราชการ แม้ผู้บังคับบัญชาไม่เห็นความดีของคุณ คุณก็ได้ทำความดีในหน้าที่ของคุณอย่างพร้อมมูลแล้ว และผลความดีของคุณย่อมปรากฏแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ ผู้ที่พึ่งอำนาจความดีของคุณ

 

          ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเป็นครูสอนนักเรียน ผลความดีที่คุณทำอย่างตรงไปตรงมา ความดีก็ได้แก่นักเรียนคือลูกศิษย์ของคุณนั่นเอง นักเรียนคือลูกศิษย์ของคุณ ได้วิชาความรู้ ได้สอบ สอบผ่านไป ความภาคภูมิใจที่คุณได้ทำให้ลูกศิษย์ได้รับผลสำเร็จ นั่นแหละคือความดึกที่ไม่มีใครจะลบล้างได้

 

          เพราะฉะนั้น หากเราไปทำความดีแล้วไม่หวังเอาความดีจากผู้อื่น ถ้าผู้นั้นเขามีความดีของเขา ก็จะให้ความดีแก่เรา แต่ถ้าเขาไม่มีความดีพอ เขาก็ไม่ให้ความดีแก่เรา เราก็ผิดหวัง

 

          เพราะในสังคมมนุษย์ คนดีประเภทหนึ่งเขาถือความมั่งมี ความร่ำรวย ถือยศถาบรรดาศักดิ์เป็นความดี และคนอีกประเภทหนึ่ง เขาถือความดีที่เขากระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นความดีที่ตนสร้าง คนประเภทนี้ถึงแม้ว่าใครจะให้ดีก็ตามไม่ให้ดีก็ตาม แต่เขาก็ภูมิใจในการที่เขาได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่บริสุทธิ์สะอาดแล้ว
 

 

 

สมเด็จพระสังฆราชทรงสรรเสริญ

ท่านเจ้าคุณชินฯ ท่านเป็นพระเถระผู้เป็นบัณฑิต

          ๕ ธันวาคม ๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาพิศาลเถร

 

          ท่านเจ้าคุณพระภาวนาพิศาลเถรเป็นผู้ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามหลวงพ่อพุธ ฉายา ฐานิโย หรือท่านเจ้าคุณชินฯ เดิม ท่านเป็นพระเถระผู้เป็นบัณฑิต มีคุณต้องตามพุทธภาษิตที่ยกขึ้นเป็นบทอุทเทศ แปลความว่า บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควร ก่อนสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง

 

 

          ตามประวัติของท่าน นับแต่บรรพชาอุปสมบทแล้ว จนปัจจุบัน ท่านปรากฏว่าเป็นผู้ไม่มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัย ความไม่มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัยนี้แหละ เป็นคุณลักษณะพิเศษที่แท้จริงของผู้มีชีวิตประเสริฐ คือ ชีวิตของพระในพระพุทธศาสนา คุณลักษณะพิเศษที่แท้จริงของพระผู้มีชีวิตประเสริฐ มิได้อยู่ที่อิทธิฤทธิ์หรือลาภยศใดอื่น

 

 

          ศีล คือ ความเรียบร้อยงดงามเป็นปกตินั้น ต้องมีด้วยกันทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ดังเป็นที่เข้าใจแล้วว่า บรรพชิตต้องมีศีลของบรรพชิต คฤหัสถ์ต้องมีศีลของคฤหัสถ์ แม้ไม่แยกออกเป็นผู้ถือศีล ๕ ศีล ๘ แต่ถ้ามีความเรียบร้อย มีพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ตั้งอยู่ในสุจริตกาย สุจริตวาจา สุจริตใจ ก็เรียกว่าเป็นผู้มีศีล

 

 

          ธรรม วินัย นักปกครองที่ดีก็ต้องมีธรรม มีวินัยของนักปกครอง ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ พลเรือน ก็ต้องมีธรรม มีวินัย พ่อค้าพาณิชย์ก็ต้องมีธรรม มีวินัย ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ก็ต้องมีธรรม มีวินัย เป็นธรรมวินัยเฉพาะตน

 

          ผู้มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัย แม้เป็นนักบวช ก็เป็นนักบวชผู้มัวหมอง แม้เป็นคฤหัสถ์ก็เป็นคฤหัสถ์ผู้มัวหมอง เมื่อเป็นผู้มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัย แม้จะรุ่งเรืองด้วยอิทธิฤทธิ์ ลาภ ยศ สรรเสริญ มีความสามารถในการอบรมสั่งสอน ในการประกอบธุรกิจอาชีพเพียงใด ก็หาพ้นจากความมัวหมองได้ไม่ หาได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรไม่ ไม่ซื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง ธรรมะเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ ผู้ไม่มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัย ก็คือพรหมวิหารธรรม

 

 

 

หลวงปู่หล้า “ไก่ป่าขันตัวเดียว”

ไก่ป่านี่อยู่ในป่า มีไก่ตัวผู้ตั้งร้อยตัวพันตัว มันจะขันเพียงตัวเดียว


          ถ้าพระภิกษุที่เคารพพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงเขาไม่ทะนงตัวหรอก แม้แต่ครูบาอาจารย์มานั่งอยู่ต่อหน้า...

 

          อย่างหลวงพ่อนั่งพูดอยู่นี่ ครูบาอาจารย์อาวุโสมาปั๊บ หลวงพ่อจะหยุดพูดทันที ยังเคยเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อไปเยี่ยมหลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้าอาวุโสอ่อนกว่าหลวงพ่อ สักพักหนึ่งพวกเจ้าใหญ่ ๆ โต ๆ มาจากกรุงเทพฯ มาเคี่ยวเข็ญหลวงปู่หล้า

 

          “หลวงพ่อขอฟังเทศน์ ๆ”

 

          หลวงปู่หล้าก็นั่งเฉย คือเขาอยากฟังเทศน์หลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้าก็ไม่เทศน์แล้วท่านก็ไม่พูดอะไร หลวงพ่อก็เลยบอกว่า

 

          “ท่านทั้งหลายอยากฟังเทศน์หลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้าเทศน์ให้ท่านฟังจนจบคัมภีร์พระวินัยปิฎก”

          เขาพากันงง หลวงพ่อก็เลยบอกว่า

 

          “ธรรมเนียมพระธุดงคกรรมฐาน ท่านจะเคารพนับถือกันตามลำดับชั้น ถ้ามีผู้อาวุโสอยู่ต่อหน้าท่าน จะไม่แสดงธรรม อาตมาก็สังเกตก็รู้สึกว่าพวกท่านอึดอัดรำคาญเต็มทีแล้ว แต่หลวงพ่อก็ไม่ลุกหนี เพราะอยากจะให้พวกท่านรู้ความจริงของระเบียบพระสงฆ์ตามพระวินัย

 

          เพราะฉะนั้น ท่านหล้าได้เทศน์ให้พวกท่านฟังจนจบพระไตรปิฏกแล้ว ธรรมเนียมพระกรรมฐาน... ถ้าหากว่ามีพระอาวุโสอยู่ท่านจะไม่แสดงธรรมหรือ เวลาท่านแสดงอยู่ ถ้าหากพระอาวุโสเข้าไปนั่งด้วย ท่านจะหยุดทันที ท่านถือธรรมเนียมไก่ป่า ไก่ป่าอยู่ในป่า มีไก่ตัวผู้ตั้งร้อยตัวพันตัว มันจะขันเพียงตัวเดียวเท่านั้น

 

          ที่นี้ท่านถือคติว่า ถ้าหากว่าพระธุดงคกรรมฐาน ต่างคนต่างเทศน์ ต่างคนต่างขัน มันก็ไม่ดีกว่าไก่ป่า”

 

          สมัยที่หลวงปู่เสาร์ท่านอยู่ เวลาท่านนั่งอยู่นั่นใครจะไปถามปัญหาอะไร ลูกศิษย์ลูกหาท่านจะนิ่งเงียบ บอกว่าให้ถามหลวงปู่ ที่นี้ถ้าหากมีใครอยากฟังเทศน์ ท่านก็เทศน์ไม่เป็น ถ้าท่านจะให้ใครเทศน์ ท่านจะบอกว่า ท่านดีเทศน์ซะ... ท่านฝั้นเทศน์ซะ...ท่านเทสก์เทศน์ซะ

 

 

          มาถึงจังหวะนี้ สมมุติว่าหลวงพ่อเป็นพระอาวุโสอยู่นี่... ท่านหล้าเทศน์ให้โยมฟังเดี๋ยวนี้ เสร็จแล้วท่านก็เทศน์ให้ฟังทันที พอฟังเทศน์ท่านหล้าจบ

 

          “โอ๊ย! เราก็แสวงหาครูบาอาจารย์มานานนักหนาแล้ว จนเกือบตายเขาโลงแล้ว” หัวหน้าใหญ่เขาพูด

 

          “เพิ่งจะมารู้เดี๋ยวนี้เอง สา..ธุ ที่มาพบพระคุณเจ้านี่ ได้ความรู้ความเข้าใจในระเบียบของพระเจ้าพระสงฆ์ ไปที่ไหนก็เห็นแต่พระท่านแข่งกันเทศน์ เพิ่งจะมารู้ความจริงวันนี้เอง กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าอย่างสุดซึ้ง”

 

 

สนทนาธรรมกับหลวงปู่เทสก์


          คราวหนึ่งไปกราบเยี่ยมหลวงปู่เทสก์ พอกราบเสร็จแล้วท่านก็บอกว่า

 

          “เจ้าคุณมาแล้วก็ดีแล้ว จะเว้าอะโรให้ฟัง”

 

          หลวงพ่อก็บอกว่า “ถ้าจะเว้าก็รีบเว้า อยากฟังอยู่เหมือนกัน”

 

          เสร็จแล้วท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า

 

          “สมาธิในฌานมันโง่ สมาธิในอริยมรรคมันฉลาด สมาธิในฌาน จิตสงบนิ่งแล้วรู้ในสิ่ง ๆ เดียว ความรู้อื่นไม่ปรากฏ แต่สมาธิในอริยมรรค พอจิตสงบแล้วมีความรู้ความคิดผุดขึ้น ๆ อย่างกับน้ำพุ จิตก็มีสติกำหนดรู้ตามไปทุกระยะ พอไปถึงจุดหนึ่ง จิตก็จะนิ่งกึ๊กลงไป แล้วสว่างไสว กิเลสทั้งหลายมาวนรอบจิตอยู่ เมื่อมาถึงความสว่างของจิต มันจะตกไป ๆ เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ”

 

          อันนี้เป็นโอวาทของหลวงปู่เทสก์

 

หน้าก่อนนี้    หน้าต่อไป


แก้ไขล่าสุด ( วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 05:15 น. )